การแสดงออกซึ่งตัวตนของคนเรานั้นมีหลายทางโดยจะเกี่ยวเนื่องกับสภาวะจิตใจและอารมณ์เสมอ เช่น การแสดงออกทางกริยาท่าทาง สายตา และคำพูด กล่าวคือ เมื่ออารมณ์เสีย ก็จะแสดงอาการหงุดหงิด โมโห โกรธ เซ็ง ฮึดฮัด และเสียงดัง หากอารมณ์ดี ก็จะ ยิ้ม สนุกสนาน หรือร้องเพลง เป็นต้น
การพูดก็เป็นการแสดงออก อย่างหนึ่ง ที่จะแสดงให้เห็นถึง เจตนา ความคิด หรือตัวตนของผู้พูด ดังนั้นเมื่อคำพูด สามารถแสดงตัวตนของผู้พูดได้ ก็แสดงว่าการพูดก็สามารถทำให้ผู้พูดเจริญหรือเสียคนได้เช่นกัน
หากวิเคราะห์ ถึงวิธีการ ข้อปฏิบัติหรือมารยาทในการพูด จะพบว่าสามารถแบ่งได้ออกเป็น 2 กลุ่ม คือ กลุ่มลักษณะการพูดในทางบวก และกลุ่มลักษณะการพูดในทางลบ1) กลุ่มลักษณะการพูดในทางบวก เช่น
- พูดมีสาระ
- รู้จักเลือกหัวข้อที่จะพูด
- แสดงความจริงใจในการพูด
- รักษาคำพุดหรือคำมั่นสัญญาที่ให้ไว้
- รู้จักกาละเทศะ ที่ต่ำที่สูงและควรไม่ควร
- รู้จักวางตัว และเคารพสถานที่
- ใช้เสียงดังพอประมาณ
- รู้จักรักษาความลับ
- รู้จังหวะเปลี่ยนหัวข้อการพูด
2) กลุ่มลักษณะการพูดในทางลบ เช่น
- ขี้บ่น
- สบถ สาบาน (เช่น ให้ฟ้าผ่าหมาตายเหอะ)
- ล้อเลียน
- ยกยอจนเกินงาม
- ดูถูกเหยียดหยาม
- พูดคำหยาบ ลามก
- พูดทับถมหรือเกทับผู้อื่น
- เอาความไม่ดีของคนอื่นไปพูด
- นินทาผู้อื่นในแง่ลบ (อยากรู้เรื่องของชาวบ้าน เรื่องตัวเองไม่รู้)
- วิพากษ์ วิจารณ์เกี่ยวกับศาสนา การเมือง หรือความรัก
- พูดให้คนฟังหรือผู้พูดด้วยเสียหน้า
- ตะโกนโหวกเหวก ข้ามหัวผู้ใหญ่ (และกำนัน อิอิ)
- พูดโอ้อวด อวดอ้างความรวย หรือความดีของตนเอง
- นำเรื่องในครอบครัวมาพูด (ไฟในอย่านำออก ไฟนอกอย่านำเข้า)
- ส่อเสียด
- ติเตียน
- ปฏิเสธความดีของผู้อื่น
- ปรับทุกข์กับบุคคลอื่นโดยไม่จำเป็น
- พูดมาก นอกเรื่อง น่ารำคาญ
- ให้ร้ายป้ายสี (ใส่ไฟ)
- ถ่อมตัวมากเกินไป (จนกลายเป็น ถล่มตัว)
จากที่ยกตัวอย่างมา จะเห็นว่าการพูดเป็นเรื่องที่สำคัญมาก คำพูดในหลายลักษณะ ทำให้ผู้พูดเสื่อมหรือเกิดผลเสียแก่ตัวเองได้ตลอดเวลา ทั้งนี้เพราะเมื่อพลั้งปากพูดไปแล้ว เราไม่สามารถลบหรือนำกลับมาได้ (ยกเว้นในสภา ที่มีการขอถอนคำพูด) ฮา ดังนั้นผู้อ่านสามารถนำตัวอย่างลักษณะการพูดไปประเมินและปรับปรุงการพูดของตัวเองได้ครับ แต่หลักง่ายๆ ก็คือ "คิดก่อนพูด" หรือคำนึงถึงคำกล่าวที่ว่า " ก่อนพูด เราเป็นนาย พูดไปแล้ว คำพูดเป็นนายเรา"
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น
น้อมรับข้อคิดเห็นครับ