ความแปลกแยก (Alienation) ของผู้ต้องขัง : เหตุที่ไม่อาจคืนคนดีสู่สังคม
*
มานะ วินทะไชย
***********************************************
ปัญหาสำคัญประการหนึ่งที่กรมราชทัณฑ์เผชิญอยู่
คือ การกระทำผิดซ้ำของผู้พ้นโทษ แม้ว่าผู้พ้นโทษเหล่านั้นจะได้ผ่านกระบวนการแก้ไข
พัฒนาพฤตินิสัย รวมทั้งการเตรียมความพร้อมก่อนปล่อย จนมั่นใจได้ว่าเป็นคนดี จึงส่งมอบต่อสังคม
เมื่อถึงกำหนดตามกฎ ระเบียบที่เกี่ยวข้อง ทว่า “คนดี” ส่วนหนึ่งได้กลับมากระทำผิดซ้ำอีก
โดยหลายฝ่ายมองไปที่บริบทภายนอกว่า เกิดจากสังคมไม่หยิบยื่นโอกาส ไม่ให้อภัย
ไม่ยอมรับกลับสู่สังคม แต่ผู้เขียนเห็นว่า เหตุทั้งนี้
หาได้สามารถอธิบายด้วยมิติการกระทำทางสังคมแต่เพียงด้านเดียวไม่ เพราะหากได้พิจารณาสภาพการณ์ที่เกิดขึ้น
ประกอบแนวความคิด “ความแปลกแยก”(Alienation) ของ
Karl Marx
อาจพบว่า เหตุที่แท้จริงนั้น อาจเป็นได้ว่า “สนิมเกิดแต่เนื้อในตน”
ความแปลกแยก
(Alienation) เป็นแนวความคิดของ Karl Marx (1818-1883)
นักปรัชญาการเมืองสำนักความคิดสังคมนิยม Marxism ใช้สำหรับอธิบายสภาพชีวิตและความรู้สึกของกรรมกรในโรงงานอุตสาหกรรม
ภายใต้ระบบเศรษฐกิจแบบทุนนิยม เขากล่าวว่า ชนชั้นกรรมกรในระบบอุตสาหกรรมทุนนิยมจะตกอยู่ภายใต้สภาวะความแปลกแยกหรือความเหินห่าง
เพราะพวกนี้จะรู้สึกว่า “ถูกแยกออกจาก” กระบวนการผลิต
ตลอดจนการครอบครองปัจจัยแห่งการผลิต ทำให้แรงงาน เวลา และชีวิตของชนชั้นกรรมกร
เป็นส่วนหนึ่งของนายทุน โดยกรรมกรจะตกอยู่ในสภาพเหมือนเป็น “ส่วนประกอบ”ของเครื่องจักรกล ลักษณะเช่นนี้ Marx
เรียกว่า “การลดคุณค่าของความเป็นมนุษย์” (Dehumanization) เริ่มต้นจากความรู้สึกว่า ตัวตนถูกแยกออกจากกระบวนการผลิตในตัวของมันเอง
ไปสู่การแยกออกจากผลผลิต ที่ได้จากกระบวนการผลิตนั้น แล้วไปสู่การแยกออกจากข้อผูกพันทางสังคม
แยกออกจากบุคคลอื่นๆ และแยกออกจากความเป็นมนุษย์ของตนเองในที่สุด (จรัส,2545:12)
จากแนวคิดดังกล่าว
อธิบายถึงความแปลกแยกทางสังคม รวมทั้งสิ่งใดๆที่ประกอบสร้างเป็นสังคมได้ว่า
สาเหตุที่บุคคลมีความรู้สึกว่าตนเองไม่เป็นส่วนหนึ่ง หรือไม่มีความผูกพันต่อสังคม
ซึ่งอาจรวมไปถึงการนิ่งเฉย ไม่ยินดียินร้าย กระทั่งต่อต้านสังคม
เนื่องจากบุคคลมีความรู้สึกว่า ความเป็นไปในสังคมในรูปแบบหรือกิจกรรมต่างๆ นั้น ตนเองไม่มีอำนาจที่จะควบคุมให้เกิดผลตามที่ต้องการได้
ตรงกันข้ามกลับถูกควบคุมในรูปแบบหรือวิธีการต่างๆ
ไม่สามารถที่จะทำนายหรือคาดการณ์ได้ว่า
รูปแบบความสัมพันธ์ของตนที่มีต่อสังคมดังกล่าว จะส่งผลในทางดี หรือร้าย
หรือตามที่ตนต้องการหรือไม่เพียงใด
ไม่สามารถหาปทัสถานหรือกฎเกณฑ์ที่จะเป็นแบบฉบับของรูปแบบความสัมพันธ์ทางสังคมได้อย่างถูกต้อง
มีความรู้สึกว่าตนเองไม่ต้องการที่จะเข้าไปสู่การปฏิสัมพันธ์ทางสังคม ดังนั้น จึงเกิดความรู้สึกว่า
ตนเองเป็นสิ่งแปลกปลอม เป็นความแปลกแยก แตกต่างจากสังคม
และไม่อยากให้ความสนใจในรูปแบบ กิจกรรมความสัมพันธ์ในทางสังคมอีกต่อไป
เมื่อไม่สนใจสังคม
สังคมก็ไม่นำพาต่อบุคคลผู้นั้น ในขณะเดียวกันสังคมกลับสร้างแรงบีบกดให้ เกิดความรู้สึกอึดอัด ขัดใจในตนเอง เกิดความสับสน
แปลกแยกกับสังคมอันจะพัฒนาบุคลิกภาพไปสู่การต่อต้าน ทำลาย ทำร้ายสังคม
ด้วยการกระทำผิดในรูปแบบของอาชญากรรมประเภทต่างๆ ผลที่ตามมาคือ บุคคลผู้แปลกแยกเหล่านั้น
ต้องเข้าสู่ระบบเรือนจำ ซึ่งจะส่งผลให้เกิดความแปลกแยกมากยิ่งขึ้นไปอีก ด้วยเหตุที่ ทั้งโครงสร้างและกระบวนการปฏิบัติต่อผู้ต้องขังในเรือนจำมีส่วนสำคัญในการสร้างความแปลกแยกในตัวตนของผู้ต้องขัง
กล่าวคือ
1.
ผู้ต้องขังแปลกแยก จากกระบวนการของเรือนจำที่ต้องทำตามตารางเวลาเกี่ยวกับการควบคุม
การฝึกวิชาชีพ การเรียนการสอนการอบรม
รวมทั้งการกินอยู่ หลับนอน และแนวทางการปฏิบัติอื่นๆ ภายใต้การกับกับ ควบคุม ชี้นำโดยเคร่งครัดของเจ้าหน้าที่
จากสภาวะดังกล่าว ใครก็ตามเมื่อต้องเข้าไปอยู่ในกระบวนการที่เป็นสภาพบังคับ
และหลีกเลี่ยงไม่ได้ ย่อมส่งผลให้เกิดความรู้สึกแปลกแยกในกระบวนการของเรือนจำที่ต้องการประดิษฐ์สร้างตัวตนผู้ต้องขังที่กลายเป็นผลผลิตตามกรอบที่เรือนจำต้องการ
หรืออีกนัยหนึ่งตามกรอบที่รัฐกำหนดให้เป็นไปตามอุดมการณ์ความสงบเรียบร้อยของสังคม-ความมั่นคงแห่งรัฐ
แม้ว่าผู้ต้องขังจะยินยอมหรือไม่ก็ตาม
2.
ผู้ต้องขังแปลกแยกจากตัวเอง มนุษย์ผู้แปลกแยกไม่สามารถที่จะควบคุมการดำเนินชีวิตของตนให้เป็นไปตามความปรารถนาไม่ว่าจะพอใจหรือไม่ก็ตาม
(กาญจนา,2527 : 2) กล่าวคือ โดยทั่วไปมนุษย์จะไม่สามารถพัฒนาบุคลิกภาพของตัวเองได้โดยลำพัง
และจะไม่มีบุคลิกภาพเป็นไปเองตามธรรมชาติ แต่จะต้องผ่านการกล่อมเกลาทางสังคม ซึ่งในกรณีผู้ต้องขัง
เมื่ออยู่ในเรือนจำบุคลิกภาพจะถูกกำหนดขึ้นโดยบุคคลอื่น ทั้งจากเจ้าหน้าที่ ผู้ต้องขังด้วยกัน
ตลอดจนกระบวนการปฏิบัติในเรือนจำ เช่น กฎ ระเบียบ โซ่ตรวน กรงเหล็ก ถ้อยคำสื่อสารที่แยกชั้น
แบ่งระดับที่แฝงนัยของการกดขี่ เป็นต้น ล้วนแต่เป็นเครื่องมือลดทอนคุณค่าของความเป็นมนุษย์ทั้งสิ้น
ซึ่งคอยบังคับ ควบคุมผู้ต้องขังให้อยู่ด้วยความหวาดระแวงและหวาดกลัว ทำให้รู้สึกสูญสิ้นความเคารพตนเอง
สูญสิ้นความมีอำนาจในตัวเอง จนเกิดความรู้สึกต่อต้านตัวเอง
กระทั่งขาดความเป็นตัวของตัวเอง แต่ก็ต้องยอมรับ ไม่ว่าจะพอใจหรือไม่ก็ตาม
3.
ผู้ต้องขังแปลกแยกจากเรือนจำ เจ้าหน้าที่ และผู้ต้องขังด้วยกัน ด้วยเหตุจากสภาพแวดล้อมที่บีบบังคับให้ต้องทำ
เพื่ออยู่ให้รอดภายใต้กระบวนการควบคุมและพัฒนาพฤตินิสัยไม่ว่าในรูปแบบหรือกิจกรรมใดและจะทำให้ได้มาซึ่งผลผลิต
หรือผลิตภัณฑ์ใดก็ตาม ล้วนต้องเป็นไปตามกฎ ระเบียบที่เคร่งครัด พร้อมกับความซ้ำซาก
จำเจ ไม่สามารถใช้ความคิด แม้เพียงแต่จะดำรงชีวิตตามปกติในเรือนจำ
ส่งผลให้ผู้ต้องขังเกิดความรู้สึกอยากแยกตัวเองออกจากเรือนจำ จากเจ้าหน้าที่ จากกระบวนการของเรือนจำ
และจากผู้ต้องขังด้วยกัน เพื่อคงความเป็นตัวของตัวเองไว้ให้นานที่สุด
แม้จะเหลืออยู่เพียงน้อยนิดก็ตาม
บุคลิกภาพที่ฝังแน่นติดตัวจากการประกอบสร้างผ่านระบบเรือนจำมานานปีเช่นนี้
เมื่อผู้ต้องขังพ้นโทษออกไป จะพกพาความรู้สึกแปลกแยกในตัวตนออกไปด้วย
โดยตระหนักว่าตนเองเข้ากันไม่ได้กับสังคม และประชาชนทั่วไป รู้สึกถึงความไม่เท่าเทียมกันในคุณค่าของความเป็นมนุษย์
ซึ่งถูกลดทอนผ่านกระบวนการเรือนจำ จนเกิดความสับสนในสภาพของตัวเอง
ภาวะโดดเดี่ยวไร้ที่พึ่ง ไร้อำนาจ โดยเชื่อว่าอำนาจต่างๆทางสังคมที่กดทับ
บีบคั้นนั้นอยู่นอกเหนือการควบคุม และในที่สุดก็จะพัฒนาบุคลิกภาพและความรู้สึกในสองแนวทางหลัก
คือ ยอมจำนนอย่างสิ้นเชิง หรือ ก่อเกิดสภาวะที่ลุกขึ้นมาสู้ หรือต่อต้านระบบหรืออำนาจทางสังคม
จนกระทั่งผลักดันให้ทำร้ายสังคมในรูปแบบและพฤติกรรมต่างๆ เป็นการ “กระทำผิดซ้ำ” คล้ายวัฏจักรที่ไม่มีวันสิ้นสุด ของ “คนดี” ซึ่งเป็นผลผลิตของกรมราชทัณฑ์ที่ส่งมอบให้กับสังคม
จากแนวคิดของ
Marx ข้างต้น เราคงต้องกลับมาตั้งคำถามกันใหม่ว่า เหตุแท้จริงของการกระทำผิดซ้ำนั้น
ใช่หรือไม่ว่า หาได้เกิดจากเหตุปัจจัยภายนอกที่มักกล่าวอ้าง
เกี่ยวกับความเชื่อมั่น การยอมรับและการให้ หรือไม่ให้โอกาสของสังคมแต่เพียงปัจจัยเดียวอย่างที่เคยชินกับการผลักภาระให้กับสิ่งที่อยู่นอกเหนือการควบคุม
หากแต่บางที สาเหตุหลัก แท้จริงแล้ว มันซ่อนลึก ฝังแน่นอยู่ในกระบวนการปฏิบัติเพื่อคืนคนดีสู่สังคมนั่นเอง
เป็นกระบวนการที่สร้าง “ความแปลกแยกในตัวตนของผู้ต้องขัง”
ที่เราเชื่อมั่นเสมอมา
เอกสารอ้างอิง
กาญจนา
แก้วเทพ.2527.จิตสำนึกของชาวนา: ทฤษฎีและแนวการวิเคราะห์แบบเศรษฐศาสตร์การเมือง.
เจ้าพระยาการพิมพ์.กรุงเทพมหานคร
จรัส
ตั้งวงศ์ชูเกตุ .2545.ความเห็นต่างทางการเมือง:ศึกษาเฉพาะกรณีนิสิตปริญญาตรี
คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์.วิทยานิพนธ์ศิลปศาสตรมหาบัณฑิต
สาขาวิชารัฐศาสตร์ ,มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น
น้อมรับข้อคิดเห็นครับ