คลังบทความของบล็อก

วันพฤหัสบดีที่ 30 ตุลาคม พ.ศ. 2557

ราชทัณฑ์ ธรรมาภิบาล ? [1]



* มานะ  วินทะไชย  



               ในการบริหารประเทศ เครื่องมือที่เป็นกลไกสำคัญยิ่งในการบริหารงานของรัฐ คือ ภาคราชการในการดำเนินกิจการและการบริหารงานประเทศของรัฐบาลมาทุกยุคทุกสมัย ทั้งในด้านสังคม เศรษฐกิจ และการเมือง ทั้งนี้เพื่อให้ประเทศชาติสามารถดำรงอยู่ได้อย่างมีเสถียรภาพ การปฏิรูประบบราชการ จึงเป็นทางออกเพื่อให้ภาครัฐสามารถสนองตอบต่อการเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจ สังคม การเมืองและเทคโนโลยีอย่างรวดเร็วและต่อเนื่อง หรือเพื่อรองรับยุค โลกาภิวัตน์



               รัฐบาลจึงได้กำหนดมาตรการในการเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานของเจ้าหน้าที่ของรัฐให้มากขึ้น ด้วยการสร้างระบบบริหารกิจการบ้านเมืองที่ดี ทั้งนี้ เพื่อให้กลไกของประเทศ ได้แก่ ภาคราชการ ภาคเอกชนและภาคประชาชน ประสานความร่วมมือในการบริหารประเทศอย่างจริงจัง โดยรัฐบาลได้มีการออกระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการสร้างระบบบริหารกิจการบ้านเมืองและสังคมที่ดี พ.ศ. 2542 และต่อมาได้มีการออกพระราชกฤษฎีกาว่าด้วยหลักเกณฑ์และวิธีการบริหารกิจการบ้านเมืองที่ดี พ.ศ.2546 ซึ่งทั้งสองมาตรการ ประกอบด้วยสาระที่สามารถกำหนดเป็นหลักสำคัญในการปรับปรุงรูปแบบการบริหารและพัฒนาประเทศ ได้ 6 ประการ ได้แก่ หลักนิติธรรม หลักคุณธรรม หลักความโปร่งใส หลักความมีส่วนร่วม หลักความรับผิดชอบและหลักความคุ้มค่า นับเป็นหลักการพื้นฐานของการบริหารกิจการบ้านเมืองที่ดี



กรมราชทัณฑ์ มิได้แตกต่างไปจากส่วนราชการอื่นๆ ที่ต้องยึดหลักการสำคัญในการบริหารทั้ง 6 หลัก ดังกล่าว เพื่อให้สอดคล้องกับเป้าประสงค์ของรัฐบาลในการที่จะสร้างประชารัฐที่มีความเข้มแข็งและยั่งยืน เป็นระบบราชการที่ส่งเสริม สนับสนุนและให้บริการแก่ประชาชนด้วยความโปร่งใส ประชาชนสามารถเข้ามามีส่วนร่วม เข้ามาตรวจสอบการทำงานได้ อีกทั้งยังเป็นองค์กรที่ทรงไว้ซึ่งความมีคุณธรรม เสมอภาค และคำนึงถึงสิทธิเสรีภาพของประชาชนอย่างแท้จริง



การวิจัยครั้งนี้ เป็นการศึกษาความคิดเห็นของข้าราชการกรมราชทัณฑ์ที่มีต่อการนำหลักการบริหารกิจการบ้านเมืองที่ดีไปใช้ในการบริหารงานของกรมราชทัณฑ์ โดยวิจัยประชากรเฉพาะข้าราชการของกรมราชทัณฑ์ ที่ปฏิบัติหน้าที่ในสังกัดสำนักและกอง ซึ่งมี จำนวน 544 คน ในช่วงเดือนตุลาคม-ธันวาคม 2553



ผลการศึกษา

          ข้าราชการส่วนกลางกรมราชทัณฑ์ มีความคิดเห็นต่อการนำหลักการบริหารกิจการบ้านเมืองที่ดีมาใช้ในการบริหารงานของกรมราชทัณฑ์ ในภาพรวมอยู่ในระดับปานกลาง  คือ มีค่าเฉลี่ยเท่ากับ 3.63 เมื่อพิจารณาเป็นรายด้าน โดยแบ่งเป็น 6 ด้าน และเรียงลำดับค่าเฉลี่ยจากมากไปหาน้อย พบว่า



          1. หลักความโปร่งใส อยู่ในระดับมาก มีค่าเฉลี่ยเท่ากับ 3.75

          2. หลักความคุ้มค่า อยู่ในระดับมาก มีค่าเฉลี่ยเท่ากับ 3.73

          3. หลักคุณธรรม อยู่ในระดับปานกลาง มีค่าเฉลี่ยเท่ากับ 3.67

          4. หลักนิติธรรม อยู่ในระดับปานกลาง มีค่าเฉลี่ยเท่ากับ 3.57

          5. หลักความรับผิดชอบ อยู่ในระดับปานกลาง มีค่าเฉลี่ยเท่ากับ 3.55

          6. หลักการมีส่วนร่วม อยู่ในระดับปานกลาง มีค่าเฉลี่ยเท่ากับ 3.49



จากผลการศึกษาที่สามารถนำมาสรุปเป็นข้อเสนอแนะต่อหน่วยงานเพื่อการปรับปรุงภารกิจต่อไปในอนาคตและข้อเสนอแนะสำหรับการวิจัยในครั้งต่อไปได้  ดังนี้

1. ผลการศึกษาถึงความคิดเห็นของข้าราชการกรมราชทัณฑ์ต่อการนำหลักการบริหารกิจการบ้านเมืองที่ดีมาใช้ในการบริหารงานของกรมราชทัณฑ์ในภาพรวมอยู่ในระดับปานกลาง           (X=3.63) เนื่องจากภารกิจต่างๆ ไม่มีความชัดเจน และเป็นรูปธรรมที่สามารถถือเป็นหลักในการบริหารงานตามหลักการบริหารกิจการบ้านเมืองได้อย่างแท้จริง กรมราชทัณฑ์ควรมีการทบทวนภารกิจการอำนวยการและสนับสนุนทั้งหมดของสำนักและกองในสังกัดกรมราชทัณฑ์ รวมทั้งของเรือนจำและทัณฑสถานในส่วนภูมิภาคที่ต้องเกี่ยวข้องสัมพันธ์กันในการปฏิบัติงาน ว่าภารกิจใดควรมีอยู่และภารกิจใดควรปรับปรุง โดยการศึกษารูปแบบและวิธีการของระบบการบริหารกิจการบ้านเมืองที่ดีเพื่อใช้เป็นกรอบของการปรับและเพิ่มเติมภารกิจที่เหมาะสมขึ้นมาใหม่ให้สามารถดำเนินการได้อย่างเป็นรูปธรรม โดยจะต้องมีการดำเนินการอย่างจริงจัง ด้วยกรอบการกำกับ ติดตาม และประเมินผลการดำเนินงาน

2. เมื่อพิจารณาเป็นรายด้าน พบว่าความคิดเห็นของข้าราชการส่วนกลางกรมราชทัณฑ์ต่อการนำหลักการบริหารกิจการบ้านเมืองที่ดีมาใช้ในการบริหารงานของกรมราชทัณฑ์ ด้านหลักการมีส่วนร่วม กลุ่มตัวอย่างมีความเห็นด้วยน้อยที่สุด(X=3.49) โดยเฉพาะในประเด็น กรมราชทัณฑ์ไม่จำเป็นต้องทำการสำรวจความคิดเห็นของประชาชนที่มีต่อการปฏิบัติงานของข้าราชการเพราะผู้ที่มาติดต่องานราชทัณฑ์นั้น ต่างเป็นผู้มีส่วนได้หรือส่วนเสียผลประโยชน์จึงเกิดอคติต่อการทำงานได้ ทั้งนี้ เนื่องจากกรมราชทัณฑ์ในฐานะหน่วยงานราชการบริหารส่วนกลาง ยังคงมีการบริหารงานตามระบบราชการที่เข้มแข็ง กล่าวคือให้ความสำคัญกับ หลักการแบ่งงานกันทำ ยึดถือกฎ ระเบียบ เป็นหลัก   เน้นความสัมพันธ์แบบทางการไม่ยึดถือตัวบุคคล โดยไม่ให้ความสนใจกับการมีส่วนร่วมในการทำงาน แม้กระทั่งภายในฝ่าย/ส่วนของหน่วยงานเดียวกัน แต่มุ่งเน้นการทำงานตามหน้าที่และสายการบังคับบัญชาเท่านั้น โดยไม่ต้องการเกี่ยวข้อง สัมพันธ์กับภาคส่วนอื่น รวมถึงประชาชน กล่าวคือ ไม่ต้องการรับฟังความคิดเห็นหรือข้อเสนอแนะจากภาคส่วนต่างๆ เพื่อปรับปรุงการปฏิบัติงานของหน่วยงาน    หากไม่มีกฎ หรือระเบียบรองรับ ซึ่งขัดแย้งกับหลักการบริหารงานแบบมีส่วนร่วม ตลอดจนบทบัญญัติรัฐธรรมนูญและหลักการบริหารกิจการบ้านเมืองที่ดี ที่เน้นหนักและให้ความสำคัญกับการบริหารงานแบบมีส่วนร่วมกับทุกภาคส่วน หรือการบูรณาการเพื่อประสิทธิภาพการทำงาน โดยเฉพาะอย่างยิ่งการมุ่งเน้นให้ประชาชนเป็นศูนย์กลาง (citizen centered) ซึ่งในเบื้องต้นจำเป็นต้องรับฟังเสียงสะท้อนการปฏิบัติงานของหน่วยงานจากประชาชนและภาคส่วนต่างๆ ด้วยเหตุดังกล่าว จึงจำเป็นต้องปรับเปลี่ยนการบริหารและพัฒนาหน่วยงานให้เป็นไปเพื่อการทำงานแบบมีส่วนร่วมกับทุกภาคส่วนในการให้บริการประชาชนภายใต้ภารกิจที่รับผิดชอบ ดังนั้นผู้บริหารควรเร่งปลูกจิตสำนึกให้กับข้าราชการให้มุ่งเน้นการทำงานแบบมีส่วนร่วม และกำหนดแนวทางหรือวิธีการบูรณาการการทำงานทั้งภายในและภายนอกองค์กรอย่างเป็นรูปธรรม โดยมีประชาชนในฐานะผู้มีส่วนได้เสียจากการปฏิบัติงานของหน่วยงาน เป็นศูนย์กลางในการทำงานหรือการให้บริการ ภายใต้การกำกับ ตรวจสอบและประเมินผลการทำงาน ที่มีประสิทธิภาพ

3. จากการศึกษาพบว่าความคิดเห็นของข้าราชการส่วนกลางกรมราชทัณฑ์ต่อการนำหลักการบริหารกิจการบ้านเมืองที่ดีมาใช้ในการบริหารงาน ด้านหลักความรับผิดชอบ (X=3.55) กลุ่มตัวอย่างมีความเห็นด้วยน้อยที่สุดรองลงมา โดยเฉพาะในประเด็นกรมราชทัณฑ์ขาดตัวชี้วัดผลการปฏิบัติงานทำให้ผู้ปฏิบัติงานขาดมาตรฐานในการทำงาน ซึ่งในความเป็นจริงแล้ว ตัวชี้วัดผลการปฏิบัติงาน เป็นเครื่องมือหรือกลไกสำคัญในการขับเคลื่อนการปฏิบัติงานของหน่วยงานและข้าราชการ ผ่านการกำกับ ควบคุม ตรวจสอบสิ่งที่ตั้งเป้าไว้หรือสิ่งที่มุ่งหมายไว้ด้วยตัวชี้วัดและมาตรฐานการทำงาน เพื่อเป็นเครื่องกำหนดผู้รับผิดชอบที่ชัดเจน ใช้ในการสื่อสารให้ทราบเพื่อถือปฏิบัติทั่วทั้งองค์กรและประการสำคัญที่สุด เพื่อการแสดงประสิทธิภาพและประสิทธิผลการทำงาน ดังนั้น ผู้บริหารควรให้ความสำคัญและสร้างความตระหนักในความรับผิดชอบต่อผลการดำเนินงานของหน่วยงานและข้าราชการ โดยการให้ตัวชี้วัดและมาตรฐานการทำงาน เป็นกรอบแนวทางการปฏิบัติงานอย่างจริงจัง เพื่อเป็นเครื่องมือในการตรวจสอบและประเมินผล ประสิทธิภาพการปฏิบัติงานของหน่วยงานได้อย่างแท้จริง

4. การแสวงหาแนวทางในการปฏิบัติของกรมราชทัณฑ์ที่เหมาะสมและสอดคล้องกับการดำเนินงานตามหลักหลักการบริหารกิจการบ้านเมืองที่ดี ได้แก่

    - การศึกษารูปแบบ  กระบวนการทางกฎหมาย เพื่อให้สอดคล้องกับรัฐธรรมนูญ สนองตอบต่อความต้องการของประชาชน มีความทันสมัยและปฏิบัติได้จริง

    - ศึกษารูปแบบการสรรหาผู้บริหารระดับสูง โดยการรับสมัครบุคลากรทั้งจากภายในและภายนอกหน่วยงาน ปรับกระบวนการคัดเลือกโดยใช้หลักประชาธิปไตยด้วยการให้ผู้สมัครแสดงวิสัยทัศน์การบริหารงานและให้บุคลากรกรมราชทัณฑ์ทั่วประเทศลงคะแนนเลือกตั้ง ทั้งนี้เพื่อให้เกิดความเป็นธรรมและได้ผู้บริหารมืออาชีพ

                    - ศึกษารูปแบบการทำสำนักงานอัตโนมัติ เพื่อเป็นการยกระดับมาตรฐานการทำงานของกรมราชทัณฑ์ให้ก้าวสู่มาตรฐานสากล

ผู้เขียนยอมรับว่าแม้ผลการศึกษาในภาพรวมจะอยู่ในระดับปานกลาง แต่จากการศึกษาเฉพาะข้าราชการส่วนกลางกรมราชทัณฑ์ หาใช่การศึกษาที่ครอบคลุมไปถึงข้าราชการในส่วนเรือนจำและทัณฑสถานแต่อย่างใด ผลการศึกษาดังกล่าวย่อมไม่อาจสะท้อนระดับ “ธรรมาภิบาล”ในงานราชทัณฑ์ได้อย่างแท้จริง    จึงจำเป็นต้องศึกษากลุ่มตัวอย่างให้ครอบคลุมทั้งข้าราชการในส่วนกลางและส่วนภูมิภาค เพื่อตรวจสอบว่า ภารกิจราชทัณฑ์ที่ดำเนินการอยู่นั้น สอดคล้องต้องกันกับหลักธรรมาภิบาลหรือไม่ ? เพื่อคลายความสงสัยหรือข้อข้องใจของผู้เขียน กล่าวคือ ใช่หรือไม่ว่า “ระดับปานกลาง”     มีค่าเท่ากับ ไม่แน่ใจ หรือไร้ซึ่ง ธรรมาภิบาล


……………………….





[1] สรุปความจาก มานะ วินทะไชย.2555 .ความคิดเห็นของข้าราชการกรมราชทัณฑ์ต่อการนำหลักการบริหารกิจการบ้านเมืองที่ดีมาใช้ในการบริหารงานของกรมราชทัณฑ์.ศิลปศาสตรมหาบัณฑิต, มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์.

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

น้อมรับข้อคิดเห็นครับ