คลังบทความของบล็อก

วันพฤหัสบดีที่ 16 ตุลาคม พ.ศ. 2557

ผู้ต้องขังล้นเรือนจำ : ปัญหาสำคัญ ที่ไม่มีวันเป็นวาระแห่งชาติ




ผู้ต้องขังล้นเรือนจำ : ปัญหาสำคัญ ที่ไม่มีวันเป็นวาระแห่งชาติ
* มานะ  วินทะไชย  

                   ครั้งหนึ่งของการประชุมเพื่อการพิจารณากำหนดแนวทางการพัฒนางานยุติธรรม     ที่ประชุมเห็นชอบให้กรมราชทัณฑ์ กรมคุมประพฤติ กรมพินิจและคุ้มครองเด็กและเยาวชน สำนักงาน ป.ป.ส. และสถาบันนิติวิทยาศาสตร์ เตรียมความพร้อมในส่วนที่เกี่ยวข้องในการจัดทำแผนยุทธศาสตร์แก้ไขปัญหาผู้ต้องขังล้นเรือนจำ โดยมีสำนักนโยบายและยุทธศาสตร์ สำนักงานปลัดกระทรวงยุติธรรม เป็นเจ้าภาพบูรณาการการจัดทำแผนฯ



          ผู้เขียนได้มีโอกาสเข้าร่วมสังเกตการณ์การประชุมดังกล่าว ก็ได้แต่คิดว่าผลผลิตที่จะได้จากข้อสั่งการนี้ หนีไม่พ้นเอกสารวิชาการที่ชื่อ “แผนยุทธศาสตร์แก้ไขปัญหาผู้ต้องขังล้นเรือนจำ”หากพลิกดูรายละเอียดก็คงขาดข้อมูลสำคัญที่จะได้จากหลายหน่วยงานในกระบวนการยุติธรรมหลัก เช่น ตำรวจ อัยการ ศาล และหน่วยงานบังคับใช้กฎหมายอื่นๆ ที่ไม่ได้เข้าร่วมจัดทำแผนด้วย เมื่อเริ่มต้นด้วยความไม่ครบ ผลผลิตย่อมไม่สมบูรณ์ ผลลัพธ์จาการยึดถือและนำไปปฏิบัติย่อมไม่อาจคาดหวัง แต่อย่างไรก็ตามนี่ไม่ใช่ครั้งแรกของการริเริ่มที่จะแก้ปัญหาที่หมักหมม สะสม และรับรู้กันมานานในสังคมไทยอย่างปัญหาผู้ต้องขังล้นเรือนจำ กล่าวคือ มีการสัมมนาวิชาการ การจัดทำเอกสารวิจัย การทำวิทยานิพนธ์ทั้งระดับมหาบัณฑิต และดุษฎีบัณฑิต ตลอดจนการบรรจุแผนงาน/โครงการในแผนแม่บทหรือยุทธศาสตร์ระดับชาติเพื่อแก้ไขปัญหาดังกล่าวในหลายวาระ แต่ก็ไม่มีความคืบหน้าแต่อย่างใด ตรงกันข้ามปัญหาผู้ต้องขังล้นเรือนจำกลับยิ่งทวีความเลวร้ายยิ่งขึ้นทุกวัน เห็นได้จากสภาวะผู้ต้องขังล้นเรือนจำ ผลกระทบและแนวทางแก้ไข (ปรับปรุงข้อมูลจากนัทธี    จิตสว่าง:นักโทษล้นคุกกับมาตรการทางเลือกในการปฏิบัติต่อผู้กระทำผิดโดยไม่ใช้เรือจำ) ดังนี้

                  1. สภาวะผู้ต้องขังล้นเรือนจำในเดือนมิถุนายน 2556 มีอยู่ 267,834 คน แต่ความจุปกติของเรือนจำสามารถรองรับได้เพียง 109,487 คน เท่ากับผู้ต้องขังเกินความจุของเรือนจำที่จะรองรับได้อยู่ถึง 158,347 คน และหากจะพิจารณาถึงสถิติผู้ต้องขังในรอบ 10 ปีที่ผ่านมาพบว่าจำนวนผู้ต้องขังเกินความจุปกติที่เรือนจำจะรองรับได้ในทุกปี ทั้งนี้ในปัจจุบัน จากข้อมูลศูนย์ทะเบียนประวัติผู้ต้องขัง กองแผนงาน กรมราชทัณฑ์  ผู้ต้องขังได้เพิ่มขึ้นโดยเฉลี่ยเดือนละ 3,500 – 4,000 คน ดังนั้น หากจำนวนผู้ต้องขังยังเพิ่มขึ้นในอัตราดังกล่าวโดยไม่มีมาตรการใด ๆ มาสกัดกั้นแล้ว จำนวนผู้ต้องขังจะเพิ่มขึ้นเป็น 300,000 คน ภายในปี 2557 ซึ่งจะเกินความจุปกติที่เรือนจำจะรองรับได้ถึงเกือบ 2 เท่า

                 2. สภาพความแออัดยัดเยียดของผู้ต้องขังในเรือนจำ ไม่เพียงแต่จะส่งผลต่อสภาพความเป็นอยู่ของผู้ต้องขังในทางลบเท่านั้น แต่ยังส่งผลกระทบต่อการบริหารจัดการเรือนจำอีกด้วย เพราะทำให้การจัดสวัสดิการและการดูแลผู้ต้องขังในด้านต่าง ๆ ทำด้วยความยากลำบาก สภาพความแออัดทำให้ผู้ต้องขังต้องกิน นอน และใช้ชีวิตความเป็นอยู่อย่างแออัด สภาพดังกล่าวจะส่งผลให้ผู้ต้องขังมีพฤติกรรมละเมิดกฎระเบียบของเรือนจำ ไม่ว่าจะเป็นการเล่นการพนัน หรือแม้แต่หันไปสู่การกระทำผิดกฎหมาย หรือประกอบอาชญากรรมเกี่ยวกับยาเสพติดในเรือนจำ 

                 3.  อัตรากำลังของเจ้าหน้าที่เรือนจำไม่ได้สัดส่วนกับผู้ต้องขัง ขณะที่จำนวนผู้ต้องขังเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง แต่จำนวนเจ้าหน้าที่ยังคงเดิม ทำให้อัตราส่วนเจ้าหน้าที่ต่อผู้ต้องขังของประเทศไทย

ห่างไกลจากมาตรฐานมาก ในขณะที่ประเทศอื่น ๆ มีอัตราส่วนเจ้าหน้าที่ต่อผู้ต้องขังประมาณ 1:3 ถึง 1:6 และมาตรฐานสหประชาชาติคือ 1:5 ประเทศไทยมีอัตราส่วนเจ้าหน้าที่ต่อผู้ต้องขัง 1:26 คือมีเจ้าหน้าที่ 11,000 คน แต่มีผู้ต้องขัง 267,834 คน และที่สำคัญในการปฏิบัติงานภายในแดนเรือนจำจริง ๆ จะมีเจ้าหน้าที่ปฏิบัติหน้าที่น้อยลงไปอีก เพราะเจ้าหน้าที่ส่วนหนึ่งต้องไปปฏิบัติหน้าที่ภายนอกแดน หรือปฏิบัติงานบนที่ทำการ ส่งผลให้ในแดนหนึ่ง ๆ อาจมีผู้ต้องขังถึง 1,000 คน แต่มีเจ้าหน้าที่ดูแลเพียง 12 คน ทำให้การดูแลไม่ทั่วถึง และไม่สามารถที่จะควบคุม รักษาวินัยผู้ต้องขังได้อย่างมีประสิทธิภาพ แต่กลับตกเป็นเบี้ยล่างผู้ต้องขัง ซึ่งได้รับการคุ้มครองเรื่องสิทธิมนุษยชนมากขึ้น โดยอาศัยการร้องเรียนเป็นเครื่องมือในการต่อสู้กับเจ้าหน้าที่ นอกจากนี้ เจ้าหน้าที่ยังต้องปรับตัวกับลักษณะประชากรผู้ต้องขังที่เปลี่ยนไป จากผู้ต้องขังคดีทั่วไปเป็นผู้ร้ายรายสำคัญ ผู้ต้องขังมีอิทธิพล ผู้ต้องขังมีโทษสูงอยู่ในเรือนจำเป็นเวลานาน

                 4. ความแออัดยัดเยียดของผู้ต้องขังในเรือนจำที่กล่าวมา เป็นผลสำคัญมาจากการที่ระบบยุติธรรมของไทยใช้กระบวนการทางอาญาเป็นหลักในการระงับข้อพิพาท และเน้นการใช้โทษจำคุกเป็นหลัก ผู้กระทำผิดไม่ว่าจะเป็นคดีเล็ก คดีใหญ่ คดีที่ศาลยังไม่ตัดสินเด็ดขาด จะถูกส่งเข้าเรือนจำเป็นส่วนใหญ่ เป็นผลทำให้ประเทศไทยมีอัตราส่วนของผู้ต้องขังต่อประชากร 100,000 คน สูงกว่าประเทศอื่น ๆ มาก กล่าวคือ 339 คน ต่อประชากร 100,000 คน ซึ่งสูงเป็นอันดับ 2 ของโลก รองจากสหรัฐอเมริกา (ข้อมูลจากสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย:TDRI)

                 5. การสร้างเรือนจำประเภทต่าง ๆ ขึ้นมารองรับจำนวนผู้ต้องขังที่เพิ่มมากขึ้นนับเป็นการแก้ปัญหาเพียงชั่วคราว เพราะตราบใดที่ระบบยุติธรรมของไทยเน้นการใช้โทษจำคุกเป็นหลัก ประกอบกับสังคมยังไม่มีมาตรการลงโทษที่เป็นทางเลือกอื่น ๆ แทนโทษจำคุก สำหรับผู้กระทำผิดบางประเภทแล้ว แม้จะสร้างเรือนจำเพิ่มอีกเท่าไรก็ไม่เพียงพอ ดังนั้นจึงเห็นได้ว่าโทษจำคุกไม่ใช่เป้าหมายของการลงโทษ หากแต่เป็นวิธีการอย่างหนึ่งในการปฏิบัติต่อคนที่กระทำผิด ซึ่งยังมีวิธีการอื่น ๆ อีกหลายวิธีตามลักษณะของความหนักเบาของคดี และลักษณะของผู้กระทำผิด ซึ่งกระบวนการยุติธรรมของไทยควรหันมาพิจารณามาตรการในการลดความแออัดยัดเยียดในเรือนจำ โดยการหันไปใช้มาตรการทางเลือกแทนการใช้โทษจำคุกในเรือนจำ ตั้งแต่การเบี่ยงเบนก่อนเข้าสู่กระบวนการยุติธรรม จนถึงการใช้มาตรการทางเลือกในการลดโทษ หรือพักการลงโทษ มาตรการดังกล่าวได้แก่

                     (1) การยกเลิกการใช้โทษทางอาญา สำหรับความผิดอาญาบางประเภทที่มีฐานความผิดทางแพ่ง โดยกำหนดให้ใช้โทษอย่างอื่นแทนโทษทางอาญา เช่น กรณีความผิดเกี่ยวกับการใช้เช็ค อาจใช้การห้ามใช้เช็คอีกต่อไป หรือมาตรการอื่น ๆ

                     (2) สนับสนุนให้มีการใช้มาตรการชะลอการฟ้องสำหรับคดีอาญาบางประเภท

                     (3) สนับสนุนให้มีการใช้มาตรการคุมประพฤติสำหรับผู้กระทำความผิดทางอาญาให้   มากขึ้น โดยการขยายกฎเกณฑ์และเงื่อนไข ทั้งนี้เพื่อให้สังคมมีความมั่นใจจึงควรนำเอาเครื่องมือ Electronic Monitoring (EM) มาใช้

                     (4) สนับสนุนให้ผู้ต้องหาหรือจำเลยมีสิทธิที่จะได้รับการปล่อยตัวชั่วคราวเพิ่มมากขึ้น   ซึ่งจะทำให้ผู้ต้องหาระหว่างการสอบสวนและพิจารณาคดีในเรือนจำลดน้อยลง

                     (5) ปรับปรุงหลักเกณฑ์และเงื่อนไขการพักการลงโทษ เพื่อให้ผู้ต้องขังมีสิทธิขอพักการลงโทษมากขึ้น และเพื่อความมั่นใจของสังคมควรนำเครื่องมือ Electronic Monitoring  มาใช้ประกอบ

                     (6) สนับสนุนให้มีโครงการโรงเรียนวิวัฒน์พลเมืองราชทัณฑ์ให้มากขึ้น เพื่อให้ผู้ต้องขังได้เข้ารับการอบรมก่อนปล่อยพักการลงโทษกรณีพิเศษ


                  มาตรการที่กล่าวมาใช้สำหรับการกรองผู้ต้องขังในคดีที่ทำผิดไม่ร้ายแรง หรือไม่มีพฤติกรรมอาชญากรออกจากระบบเรือนจำ เพื่อให้เรือนจำคลายความแออัดยัดเยียด และสามารถปฏิบัติต่อผู้ต้องขัง ให้การดูแลอบรมแก้ไขได้อย่างทั่วถึงและมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น

                            

        ที่ผ่านมาปัญหาและแนวทางการแก้ไขด้วยมาตรการทางเลือกข้างต้น ไม่ใช่เรื่องใหม่แต่รับรู้กันมานานนับ 10 ปี แต่ก็ไม่มีหน่วยงานที่เกี่ยวข้องใด หรือรัฐบาลชุดใดเข้ามาเยียวยาแก้ไขร่วมกับภาคส่วนต่างๆอย่างจริงจัง กล่าวสำหรับหน่วยงานหลักในกระบวนการยุติธรรมทางอาญา ได้แก่ ตำรวจ อัยการ ศาล และราชทัณฑ์ สภาพในทางปฏิบัติที่ผ่านมาพบว่ามีลักษณะการดำเนินงานที่เป็นแบบสายพาน มีการส่งต่องานกันเป็นทอดๆแบ่งแยกกันเป็นส่วนๆตามแนวนโยบายของแต่ละองค์กร (ธานี,2554:39) การทำงานที่แยกเป็นอิสระออกจากกัน ขาดกลไกการจัดความสัมพันธ์และการประสานงานที่ดี แม้ว่าจะปรากฏความพยายามในการสร้างความเป็นเอกภาพและบูรณาการในเชิงนโยบายอยู่บ้าง ทั้งในรูปของการสร้างเครือข่ายการทำงานและการจัดตั้งกลุ่มเพื่อดำเนินงานร่วมกันในรูปแบบคณะกรรมการที่มีตัวแทนจากองค์กรต่างๆเข้าร่วมเป็นภาคี ก็ไม่ปรากฏผลสำเร็จชัดเจน จะทำได้ก็แต่เพียงกิจกรรมเฉพาะกิจ ในรูปโครงการขนาดเล็กที่ไม่ต้องอาศัยระยะเวลา และทรัพยากรในการดำเนินการมากนัก อาทิ กิจกรรมในเชิงรณรงค์ประชาสัมพันธ์ การจัดกิจกรรมประชุม สัมมนาไปตามวาระและโอกาส การออกให้บริการระดับพื้นที่เป็นครั้งๆ (ศุภสวัสดิ์และวสันต์,2554:116)  เหล่านี้ ย่อมไม่เพียงพอต่อการแก้ปัญหาสำคัญที่ต้องอาศัยความร่วมมือจากทุกฝ่ายอย่างจริงจังอย่างผู้ต้องขังล้นเรือนจำ 


                ที่ผ่านมาปัญหาสำคัญที่มีความสลับซับซ้อนและฝังรากลึก จนยากแก่การสะสางให้ลุล่วงไปได้โดยเร็ว ต้องการการผนึกกำลังทั้งจากรัฐบาล ทุกภาคส่วนและประชาชนเพื่อดำเนินการแก้ไขปัญหาอย่างต่อเนื่องให้สำเร็จโดยเร็ว มักได้รับการยกระดับให้เป็นวาระแห่งชาติ ทว่าปัญหาผู้ต้องขังล้นเรือนจำ เป็นวิกฤตราชทัณฑ์และวิกฤตของสังคมไทยที่ทุกฝ่ายในสังคมต้องให้ความสำคัญและมีส่วนร่วมในการหาแนวทางแก้ไขและป้องกัน เพราะปัญหานี้ส่งผลกระทบทางลบต่อสังคมไทยในปัจจุบันและอนาคต เป็นไปตามเงื่อนไขและปัจจัยของการยกระดับปัญหาเป็นวาระแห่งชาติทุกประการ การณ์กลับปรากฏว่าปัญหาผู้ต้องขังล้นเรือนจำไม่เคยได้รับการพิจารณาจากฝ่ายการเมืองและภาคสังคมที่จะยกระดับเป็นวาระแห่งชาติ เหมือนกับประเด็นวาระแห่งชาติอย่างเรื่อง ความอ้วน การออม การเลิกเหล้า ความเหลื่อมล้ำ การลดอุบัติเหตุ คอร์รัปชัน การศึกษา ยาเสพติด ส่งนักกีฬาไปโอลิมปิก การปราบลูกน้ำยุงลายป้องกันไข้เลือดออก และการสวมหมวกกันน็อค  (บทบรรณาธิการฐานเศรษฐกิจ, http://www.thanonline.com/index, 2556)



     เพราะเหตุใด ในเมื่อวิกฤตราชทัณฑ์ดังกล่าว สะท้อนความล้มเหลวของกระบวนการยุติธรรมซึ่งจะนำไปสู่วิกฤตสังคม เป็นปัญหาที่ทั้งสลับซับซ้อน ฝังลากลึก ยากแก่การสะสางไม่น้อยไปกว่า “การปราบลูกน้ำยุงลายป้องกันไข้เลือดออก” หรือ “การสวมหมวกกันน็อค” แต่สิ่งสำคัญที่ขาดหายไป คือ การไม่ได้รับความสำคัญและร่วมมือกันแก้ไขปัญหาจากรัฐบาล ภาคส่วนต่างๆ และประชาชน ทั้งนี้สาเหตุสำคัญอาจชี้วัดได้จากสถานภาพขององค์กรหลักกระบวนการยุติธรรม ล้วนเป็นหน่วยงานในระบบราชการต่างสังกัด ต่างกฎ-ระเบียบ ต่างอำนาจหน้าที่ ต่างสายการบังคับบัญชาและต่างวัฒนธรรมองค์กร กล่าวคือ

สำนักงานตำรวจแห่งชาติ : ไม่สังกัด กระทรวง ทบวงใด แต่อยู่ในบังคับบัญชาและการสั่งการของ นายกรัฐมนตรี

สำนักงานอัยการสูงสุด : เป็นองค์กรอื่นตามรัฐธรรมนูญ 2550 ที่เป็นอิสระในการสั่งคดี  การบริหารงานบุคคล การงบประมาณ และปฏิบัติหน้าที่ให้เป็นไปโดยเที่ยงธรรม

ศาลยุติธรรม : เป็นองค์กรที่ใช้อำนาจที่เป็นหนึ่งในสามของอำนาจอธิปไตย มีอิสระในการพิพากษาอรรถคดีให้เป็นไปโดยถูกต้อง รวดเร็ว เป็นธรรม

กรมราชทัณฑ์: เป็นหน่วยงานราชการบริหารส่วนกลาง ระดับกรม ในสังกัดฝ่ายบริหาร ภายใต้การบังคับบัญชาและสั่งการของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม


การอยู่ภายใต้โครงสร้างระบบราชการที่แข็งตัวเช่นนี้ของหน่วยงานในกระบวนการยุติธรรมดังกล่าว จะมีความเป็นไปได้มากน้อยเพียงใด กับการบูรณาการการทำงานเพื่อพัฒนาและแก้ไขปัญหาร่วมกัน ?  องค์กรจากกระบวนการยุติธรรมต้นทางอาจจะคิดว่า “ผู้ต้องขังล้นเรือนจำ เป็นปัญหาของคุณ (ราชทัณฑ์) ไม่ใช่ปัญหาของผม” ในเมื่อหน่วยงานที่ทำงานอยู่บนสายพานเดียวกัน ยังมีความคิดแบบตัวใครตัวมัน สนใจเฉพาะเป้าหมายและภารกิจในอาณาจักรของตน โดยไม่สนใจที่จะสร้างเอกภาพในการทำงานเพื่อเป้าหมายระดับชาติและประโยชน์ส่วนรวม เช่นนี้แล้วเราจะคาดหวังความเข้าใจ ความสำคัญและการร่วมมือกันแก้ไขจากรัฐบาล ภาคส่วนต่างๆและประชาชนได้อย่างไร นอกจากนี้ สิ่งที่น่าวิตกอย่างยิ่งก็คือ ความเพิกเฉย ละเลยต่อปัญหาของสังคมไทย กล่าวคือ ด้วยสายพานการผลิตอันทอดยาวไกลของกระบวนการยุติธรรมไทย ทำให้ต่างหลงลืมไปว่าปัญหาที่ตกหนักอยู่ปลายทาง คือ กรมราชทัณฑ์นั้น แท้ที่จริงวัตถุดิบหรือแหล่งปัจจัยตั้งต้นของวิกฤตนั้น มาจากสภาพบีบคั้นสังคม ที่โยงใยกับสภาวะเศรษฐกิจอันฝืดเคืองและอุดมการณ์ทางการเมืองที่แตกต่าง ซึ่งผลักดันให้เกิดการกระทำผิดและไหลเข้าสู่สายพานดังกล่าว ทว่า สังคมกลับไม่ตระหนัก และรับรู้ต่อภาวะวิกฤติ กระทั่งคิดว่า ยังไม่ใช่ปัญหาเร่งด่วนแต่อย่างใด เป็นเรื่องไกลตัว เนื่องจากผลกระทบยังไม่ส่งผลที่ชัดเจนต่อสังคมในวงกว้าง แต่กลับเห็นว่า ก็ยังอยู่กันได้อย่าง “กินอิ่ม นอนอุ่น”ดังนั้น ผู้ต้องขังล้นเรือนจำ จึงเป็นปัญหาสำคัญเฉพาะในความคิดของกรมราชทัณฑ์ ที่สังคมไม่มีวันตระหนักถึงสภาวะวิกฤติและจะไม่ได้รับการพิจารณายกระดับเป็นวาระแห่งชาติไปอีกนาน



เอกสารอ้างอิง



ธานี  วรภัทร์.2554. วิกฤตราชทัณฑ์ วิกฤตกระบวนการยุติธรรมทางอาญา.สำนักพิมพ์วิญญูชน.

กรุงเทพมหานคร

นัทธี จิตสว่าง .นักโทษล้นคุกกับมาตรการทางเลือกในการปฏิบัติต่อผู้กระทำผิดโดยไม่ใช้เรือนจำ.


บทบรรณาธิการฐานเศรษฐกิจ.http://www.thanonline.com/index สืบค้น 25 มิถุนายน 2556

ศุภสวัสดิ์ ชัชวาลและวสันต์ เหลืองประภัสร์.2554. การกระจายอำนาจกับวิกฤติการเมืองไทย.      

สำนักพิมพ์ภาพพิมพ์.กรุงเทพมหานคร

สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย:TDRI.ทางเลือกในการเพิ่มประสิทธิภาพในกระบวนการยุติธรรมทางอาญา http://www.tdri.or.th สืบค้น 25 มิถุนายน 2556

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

น้อมรับข้อคิดเห็นครับ