*
มานะ วินทะไชย
เป้าหมายสูงสุดของงานราชทัณฑ์
คือการส่งมอบ “คนดี” ภายหลังผ่านกระบวนการควบคุม
แก้ไขและพัฒนาพฤตินิสัยที่เชื่อว่าได้มาตรฐานให้แก่สังคม แต่ปัญหาที่เป็นเครื่องบ่งชี้ถึงความล้มเหลวของกระบวนการและบั่นทอนความเชื่อมั่นต่อประสิทธิภาพการปฏิบัติงานขององค์กรในสายตาของรัฐและสังคม
คือ การกลับมากระทำผิดซ้ำของผู้พ้นโทษ ซึ่งบอกกล่าวและอ้างอิงกันมายาวนานว่า
เหตุหลักประการหนึ่ง คือ ความไม่เชื่อมั่นและการไม่ได้รับโอกาสจากภาครัฐและสังคม
ไม่ว่าจะเป็นการจ้างงาน การประกอบอาชีพ การมีสิทธิในสวัสดิการ
การได้รับบริการด้านต่างๆ แต่ผู้พ้นโทษก็มักถูกจำกัดสิทธิ ผ่านระเบียบ กฎหมาย
การเลือกปฏิบัติภายใต้มาตรฐานที่แตกต่าง ทั้งนี้ในความเห็นของผู้เขียน
มีชุดความคิด ความเชื่อที่อยู่เบื้องหลังและผลักดันการปฏิบัติของรัฐและสังคมต่อผู้พ้นโทษ
ที่เรียกว่า “นิยัตินิยม” (Determinism)
นิยัตินิยม คือ การอธิบายแบบมีเหตุ
ที่ทำให้เกิดผล ซึ่งทำให้เกิดปรากฏการณ์ต่างๆ โดยการอธิบายจะมีคำตอบ
หรือคำอธิบายกำหนดล่วงหน้าตายตัวอยู่แล้วในมิติเดียว โดยไม่คำนึงถึงความซับซ้อนหลากหลายที่มีอยู่ในปรากฏการณ์ต่างๆร่วมด้วย
(เอก,2550:95)
รัฐไทยมีชุดความเชื่ออย่างไร
รัฐไทยที่มีโครงสร้างรัฐแบบรวมศูนย์ไว้ที่ศูนย์กลาง
เพื่อรองรับระบอบอำนาจนิยม(เสกสรรค์,2554:91)
กำหนดทุกอย่างภายใต้อุดมการณ์ ความสงบเรียบร้อยของสังคม และความมั่นคงแห่งรัฐ
การกระทำใดที่ขัดหรือแย้งต่ออุดมการณ์ดังกล่าว
ถือเป็นปฏิปักษ์ต่อรัฐและจำเป็นต้องจัดการให้อยู่ในกรอบ
ในส่วนของสังคมตามรัฐ
ภายใต้อุดมการณ์ข้างต้น โดยเชื่อว่า คนดี คือคนที่อยู่ภายใต้แนวทางที่รัฐกำหนด ไม่ละเมิดกฎเกณฑ์ของรัฐและทำร้ายสังคม
ผู้ต้องขัง คือ ผู้ที่ทำลายกรอบนิยัตินิยมของทั้งรัฐและสังคมโดยสิ้นเชิง
จึงเป็นที่มาของการเพ่งเล็ง เฝ้าระวัง บนพื้นฐานของความไม่เชื่อใจ ไม่ไว้วางใจ
ประกอบกับรัฐและสังคมตกอยู่ใต้กับดักความคิดที่ว่า อดีตกำหนดปัจจุบันและตัดสินอนาคต
กล่าวคือ ในอดีต ผู้ต้องขังคือผู้ที่ทำลายระเบียบ ข้อบังคับของรัฐ กฎเกณฑ์ของสังคม
แม้ปัจจุบันจะกล่าวอ้างถึงความเป็นคนดีที่ผ่านกระบวนรับรอง
แต่ก็ไม่แน่ใจในประสิทธิภาพของกระบวนการขัดเกลา และในอนาคต
ก็มีแนวโน้มที่จะกระทำผิดซ้ำอีก ทั้งนี้ หาได้นำปัจจัยอื่นมาพิจารณาร่วมด้วย เช่น
ความเชื่อ ความคิด ความรู้ ความจำเป็นทางเศรษฐกิจ และพื้นฐานครอบครัว เป็นต้น
นอกจากนี้
วาทกรรมที่กล่อมเกลาความเชื่อของรัฐและสังคมที่ว่า “คนทำผิด
ไม่มีทางแก้ไข” “ผู้ต้องขังอันตรายและไม่น่าไว้วางใจ”
“คนทำผิด ไม่มีวันกลับตัวกลับใจได้” อีกทั้งสื่อสารมวลชนทุกแขนงก็มักประโคมข่าวอาชญากรรมร้ายแรงของผู้ที่เพิ่งพ้นโทษออกมาจากเรือนจำ
ยิ่งเป็นการตอกย้ำ ความคิด ความเชื่อ จนยากจะไถ่ถอน
ให้กลับมาเชื่อมั่นในศักยภาพของมนุษย์ที่สามารถพัฒนาสู่ความเป็นคนดี
แม้ว่าจะผ่านกระบวนการแก้ไขมา 100 วิธี หรือ 1,000
โปรแกรมก็ตาม
เมื่อเป็นเช่นนี้
“คนดี”
ที่เป็นผลผลิตของงานราชทัณฑ์จะถูกกีดกันออกจากพื้นที่ศูนย์กลางของรัฐและสังคม
กลายเป็นคนชายขอบ ผู้ด้อยโอกาส ที่ปราศจากอำนาจต่อรอง
เพื่อเรียกร้องปัจจัยพื้นฐานและการบริการของรัฐ ที่คนในประเทศจะพึงมีพึงได้ เช่น
การประกอบอาชีพ ในสังกัดหน่วยงานภาครัฐและองค์กรเอกชน การรับสวัสดิการและบริการที่เป็นสิทธิ
ในฐานะพลเมืองของประเทศ หาใช่การรับการสงเคราะห์
ที่ต้องสำนึกในพระคุณอย่างที่ปฏิบัติกันอยู่ เป็นต้น
ก็ย่อมมีความโน้มเอียงในการละเมิดกฎ ระเบียบ และทำร้ายสังคม
ตั้งแต่ความผิดเล็กน้อย ไปจนถึงอาชญากรรมร้ายแรง
ทั้งนี้ หากรัฐและสังคมจะได้มองข้ามนิยัตินิยม
โดยพิจารณาปัจจัยอื่นร่วมด้วย ในมิติการเมือง เศรษฐกิจ สังคม ประเพณี
วัฒนธรรมและเทคโนโลยี กล่าวคือทำความเข้าใจปัจจัยพื้นฐานและความเกี่ยวข้องรอบด้าน
ก่อนที่จะกำหนดหรือตัดสินใจในตัวตนและการกระทำใดๆ ของผู้พ้นโทษ จะพบว่าปัญหาที่เกิดขึ้นเป็นปัญหาของเราร่วมกันของทุกภาคส่วน
หาใช่ของฝ่ายใด กลุ่มใด แต่เพียงอย่างเดียว ใช่หรือไม่ว่ารัฐและสังคม
ก็มีส่วนในการผลักไส บีบคั้น ไม่ว่าทางตรงหรืออ้อม
ให้เขาเหล่านั้นกลายเป็นผู้กระทำผิด แล้วเหตุใดจึงไม่ลองหยิบยื่นโอกาสด้วยมุมมองใหม่
เอกสารอ้างอิง
เสกสรรค์
ประเสริฐกุล.2554.เปลี่ยนประเทศไทยด้วยพลังพลเมือง
ยุติการเมืองแบบหางเครื่อง.
ปราชญ์ สำนักพิมพ์. กรุงเทพมหานคร
เอก
ตั้งทรัพย์วัฒนา.2550.คำและความคิดในรัฐศาสตร์ร่วมสมัย.สำนักพิมพ์แห่งจุฬาลงกรณ์ มหาวิทยาลัย. กรุงเทพมหานคร