วันศุกร์ที่ 21 พฤศจิกายน พ.ศ. 2557

ขังเดี่ยว ตอน คำพิพากษาคดีนักโทษขังเดี่ยวแอริโซนามีสิทธิ์ฟ้องรัฐข้อหาไม่ดูแลสุขภาพ

            วินัย เจริญเฉลิมศักดิ์ นม. 

           จากกรณีนักโทษขังเดี่ยวของกรมราชทัณฑ์ มลรัฐแอริโซนา สหรัฐอเมริกา โดยสหภาพ พลเรือนอเมริกันเพื่อเสรีภาพ และพวก (กลุ่มสิทธิมนุษยชน สำนักงานกฎหมายเรือนจา บริษัท กฎหมาย เพอร์กินส์ คอยส์ และโจนส์วัน) ในฐานะผู้รับมอบอำนาจ เป็นโจทก์ร่วมฟ้องกรมราชทัณฑ์ มลรัฐแอริโซนา ต่อศาลของรัฐบาลกลางสหรัฐอเมริกา เมื่อ 22 มีนาคม 2555 หมายเลขคดี 2 / 12-CV-00601-NVW ข้อหา “จงใจ ละเลย ไม่ดูแลสุขภาพขั้นพื้นฐานของนักโทษ โดยเฉพาะนักโทษขังเดี่ยว ที่มีความเสี่ยงสูงที่จะเป็นอันตรายร้ายแรงต่อร่างกายและจิตใจ ไม่เคารพศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ และละเมิดสิทธิมนุษยชน.....” ต่อมา “เมื่อวันที่ 5 มิถุนายน 2557 ศาลอุทธรณ์ของรัฐบาลกลางสหรัฐอเมริกา ได้มีคำพิพากษาวินิจฉัยว่า สหภาพพลเรือนอเมริกันเพื่อเสรีภาพและพวก สามารถฟ้องกรมราชทัณฑ์ มลรัฐแอริโซนา ให้รับผิดชอบในความเสียหายที่เกิดขึ้นจากการกระทำผิดกฎหมาย ไม่ปฏิบัติตามกฎหมายและรัฐธรรมนูญของสหรัฐอเมริกา จงใจ ละเลย หรือไม่สามารถให้การดูแลสุขภาพขั้นพื้นฐานของนักโทษ โดยเฉพาะการ ขังเดี่ยว ทำให้นักโทษได้รับความเจ็บปวด ทรมาน และเสียชีวิตในขณะที่รอการดูแลสุขภาพขั้นพื้นฐาน ไม่เคารพศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ และเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชน.....”  ซึ่งจากผลของคำพิพากษา ดังกล่าว จะก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงต่อระบบการคุมขังโดยเฉพาะการขังเดี่ยวในเรือนจำของรัฐและเรือนจำเอกชนของกรมราชทัณฑ์ มลรัฐแอริโซนา และกรมราชทัณฑ์ในมลรัฐอื่นๆของสหรัฐอเมริกา ระบบคุมขังของประเทศต่างๆ รวมตลอดถึงประเทศไทยที่อาจจะต้องเพิ่มความระมัดระวังในการดูแลสุขภาพนักโทษที่จะต้องคำนึงถึงศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ สิทธิมนุษยชน ให้มากยิ่งขึ้นโดยเฉพาะการปฏิบัติต่อนักโทษในการคุมขังแบบขังเดี่ยว และ เพื่อให้ง่ายต่อการทำความเข้าใจ จักได้กล่าวถึงคำพิพากษาคดีดังกล่าวโดยย่อ ในหัวข้อ คำฟ้อง คำให้การ และแนวคำพิพากษาของศาลในคดีดังกล่าว ทฤษฎีขังเดี่ยว และการขังเดี่ยว ในประเทศไทยโดยสังเขป ดังนี้


ขังเดี่ยว

           คำฟ้องคดีกรมราชทัณฑ์ มลรัฐแอริโซนา ละเลยหรือไม่สามารถให้การดูแลสุขภาพขั้นพื้นฐานของนักโทษที่ถูกคุมขังโดยเฉพาะการขังเดี่ยว ข้อมูลจากเว็บไซต์ http://www.prisonlaw.com/events.php พบว่า คำฟ้อง คำให้การ คำพิพากษาของศาลของคดีดังกล่าว มีดังนี้
  •  คำฟ้อง
    • วันฟ้อง วันที่ 22 มีนาคม 2555
    • ข้อหา “.....จำเลยหรือกรมราชทัณฑ์ มลรัฐแอริโซนาได้จงใจ ละเลย หรือไม่สามารถให้การดูแลสุขภาพขั้นพื้นฐานของนักโทษที่ถูกคุมขังตามกฎหมาย และ ตามบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญของสหรัฐอเมริกา โดยเฉพาะการขังเดี่ยว ทำให้นักโทษมีความเสี่ยงที่สาคัญต่ออันตรายร้ายแรง ความเจ็บปวด ความทุกข์ทรมาน และอาจเสียชีวิตจากการคุมขัง ไม่เคารพศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ และเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชน.....”


ขังเดี่ยว

  • หมายเลขคดี 2 : 12-CV-00601-NVW
    • โจทก์ สหภาพพลเรือนอเมริกันเพื่อเสรีภาพ และพวก (กลุ่มสิทธิมนุษยชน สานักงานกฎหมายเรือนจำ บริษัท กฎหมายเพอร์กิ้นส์ คอยส์ และโจนส์วัน) ในฐานะผู้รับมอบอำนาจจากนักโทษ ในเรือนจำมลรัฐแอริโซนา
    • จำเลย กรมราชทัณฑ์ มลรัฐแอริโซนา
    • ประเด็นตามฟ้อง (โดยย่อ)
               “.....จำเลยจงใจ ละเลย ไม่ดูแลสุขภาพ ดูแลสุขภาพนักโทษล่าช้า ไม่ทั่วถึง พนักงานดูแลสุขภาพไม่เพียงพอ ปฏิเสธการดูแลรักษาสุขภาพ ดูแลสุขภาพนักโทษต่ำกว่ามาตรฐาน ตามกฎหมาย ปฏิบัติต่อนักโทษด้วยความโหดร้ายผิดปกติ ล้มเหลว หรือไม่สนใจดูแลสุขภาพขั้นพื้นฐาน ของนักโทษ ทำให้นักโทษมีความเสี่ยงและอันตรายร้ายแรงของสุขภาพ ได้รับความเจ็บปวด ความทุกข์ทรมาน อาจต้องเสียเสียโฉม เสียอวัยวะ แขน ขา และอาจเสียชีวิตในขณะที่รอการดูแลสุขภาพขั้นพื้นฐาน เป็นการกระทำผิดกฎหมาย ไม่ปฏิบัติตามกฎหมาย นโยบาย และบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญของสหรัฐอเมริกา ไม่เคารพศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ เป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชน และทำให้โจทก์ได้รับความเสียหายจากการกระทำของจำเลยและพวก.....”

                “.....ปัญหาการดูแลรักษาสุขภาพของนักโทษที่ถูกคุมขังแบบขังเดี่ยว โดยเฉพาะการขังเดี่ยวในซุปเปอร์แม็กซ์ ซึ่งมีสภาพที่โหดร้ายและผิดปกติของการคุมขัง มีการเปิดไฟในห้องขังตลอดเวลา 24 ชั่วโมง ปฏิเสธการดูแลด้านสุขภาพ ขาดการสันทนาการ มีอาหารไม่เพียงพอ ขาดการออกกาลังกายกลางแจ้ง ไม่คำนึงถึงการดูแลสุขภาพขั้นพื้นฐาน ทำให้นักโทษต้องทนความเจ็บปวด ทุกข์ทรมาน และเสียชีวิต ไม่ปฏิบัติตามกฎหมายและบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญ ไม่เคารพศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ เป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชน และทำให้โจทก์ได้รับความเสียหายจากการกระทำของจำเลยและพวก.....”

    • คำขอท้ายฟ้อง
      • ให้ศาลมีคำพิพากษาว่า การกระทำของจำเลยเป็นการกระทำโดยจงใจไม่ดูแลสุขภาพ ดูแลสุขภาพนักโทษไม่ทั่วถึง ดูแลสุขภาพนักโทษต่ำกว่ามาตรฐานตามกฎหมาย ปฏิบัติต่อนักโทษด้วยความโหดร้ายผิดปกติ ล้มเหลว หรือไม่สนใจดูแลสุขภาพขั้นพื้นฐานของนักโทษในเรือนจำ ทำให้นักโทษมีความเสี่ยงที่สำคัญต่ออันตรายร้ายแรง ได้รับความเจ็บปวด ความทุกข์ทรมาน อาจต้องเสียเสียโฉม เสียอวัยวะ แขน ขา และอาจเสียชีวิตในขณะที่รอการดูแลสุขภาพขั้นพื้นฐาน เป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชน ไม่เคารพศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ เป็นความผิดตามกฎหมาย และตามรัฐธรรมนูญของสหรัฐอเมริกา
      • ให้ศาลมีคำพิพากษาให้จำเลยชดใช้ค่าเสียหายที่เกิดขึ้นจากการไม่ดูแลรักษาสุขภาพ การไม่ปฏิบัติตามกฎหมาย การกระทำผิดกฎหมาย และไม่ปฏิบัติตามบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญของสหรัฐอเมริกา แก่โจทก์และพวก ตามประมวลกฎวิธีพิจารณาความแพ่งของรัฐบาลกลางข้อ 23 (ก) และ 23 (ข) (1) และ (2)
      • ให้ศาลมีคำพิพากษาและคำสั่งกำชับจำเลยและพวก ทำการดูแลรักษานักโทษ การประกันคุณภาพการรักษานักโทษให้ถูกต้องตามกฎหมายและบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญของสหรัฐอเมริกา รวมตลอดถึงข้อห้ามของการคุมขัง โดยเฉพาะการขังเดี่ยวที่มีความเสี่ยงที่จะเป็นอันตรายต่อร่างกายและจิตใจอย่างรุนแรง ให้จัดหาอาหารที่จำเป็นและมีคุณค่าทางโภชนาการ จัดให้มีการออกกาลังกายกลางแจ้งเป็นประจำเพื่อรักษาสุขภาพร่างกายและจิตใจของนักโทษ เป็นต้น


ขังเดี่ยว

  • คำให้การ
         กรมราชทัณฑ์ มลรัฐแอริโซนา จำเลย ให้การปฎิเสธ โดยอ้างเหตุผลว่า “.....กรมราชทัณฑ์ มลรัฐแอริโซนา มีหน้าที่ตามกฎหมายในการให้บริการทางการแพทย์และดูแลสุขภาพนักโทษทั้งหมด ประมาณ 33,000 คน ซึ่งในการดำเนินงาน ดังกล่าว อธิบดีกรมราชทัณฑ์มลรัฐแอริโซนา ได้ประกาศนโยบายการดูแลสุขภาพนักโทษที่อยู่ในความดูแลของตนทั้งหมด (รวมทั้งนักโทษขังเดี่ยว) และนักโทษที่เป็นโจทก์ฟ้อง กรมราชทัณฑ์ มลรัฐแอริโซนา โดยได้ดูแลสุขภาพนักโทษที่อยู่ในความควบคุมดังกล่าวเหมือนกันทั้งหมด นอกจากนั้น กรมราชทัณฑ์ มลรัฐแอริโซนา ยังได้ทำสัญญากับหน่วยงานภาคเอกชนเพื่อให้บริการทางการแพทย์ทันตกรรมและการดูแลสุขภาพจิตนักโทษ ตั้งแต่ 2 กรกฎาคม 2012 และกรมราชทัณฑ์ มลรัฐแอริโซนาได้มีเจ้าหน้าที่ทำการตรวจสอบการดำเนินงานของภาคเอกชนอย่างต่อเนื่อง จึงปฎิเสธความรับผิดชอบตามข้อกล่าวหาทั้งหมด.....”

  • คำพิพากษาศาลอุทธรณ์
         ศาลอุทธรณ์รัฐบาลกลางสหรัฐอเมริกามีคำพิพากษาเมื่อวันที่ 5 มิถุนายน 2557 “.....ศาลปฏิเสธ ไม่รับฟังข้อโต้แย้งตามคำให้การของกรมราชทัณฑ์ มลรัฐแอริโซนา และอนุญาตให้สหภาพพลเรือนอเมริกันเพื่อเสรีภาพ และพวก (กลุ่มสิทธิมนุษยชน สำนักงานกฎหมายเรือนจำ บริษัท กฎหมายเพอร์กิ้นส์ คอยส์ และโจนส์วัน) ในฐานะผู้รับมอบอานาจจากนักโทษในเรือนจำมลรัฐแอริโซนา เป็นตัวแทนของนักโทษเรือนจำแอริโซนา สามารถฟ้องกรมราชทัณฑ์ มลรัฐแอริโซนากรณีจงใจ ละเลย ไม่ดูแลสุขภาพ ดูแลสุขภาพนักโทษล่าช้า ไม่ทั่วถึง พนักงานดูแลสุขภาพไม่เพียงพอ ปฏิเสธการดูแลรักษาสุขภาพ ดูแลสุขภาพนักโทษต่ากว่ามาตรฐานตามกฎหมาย ปฏิบัติต่อนักโทษด้วยความโหดร้ายผิดปกติ ล้มเหลว หรือไม่สนใจดูแลสุขภาพ ขั้นพื้นฐานของนักโทษ ทำให้นักโทษมีความเสี่ยงและเป็นอันตรายร้ายแรงของสุขภาพ ได้รับความเจ็บปวด ความทุกข์ทรมาน อาจต้องเสียโฉม เสียอวัยวะ แขน ขา และอาจเสียชีวิตในขณะที่รอการดูแลสุขภาพขั้นพื้นฐาน โดยเฉพาะนักโทษขังเดี่ยว ที่มีความเสี่ยงที่สำคัญของอันตรายร้ายแรงต่อรางกายและจิตใจ ไม่เคารพศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ และละเมิดสิทธิมนุษยชน อันเป็นผลที่เกิดจากการดำเนินงานตามนโยบายของกรมราชทัณฑ์ มลรัฐแอริโซนาได้.....”


กระแสเรียกร้องให้หยุดการขังเดี่ยวในต่างประเทศ

  •  ทฤษฎีขังเดี่ยว ทฤษฎีขังเดี่ยวเกิดจากแนวความคิดความเชื่อที่ว่า “การขังเดี่ยวโดยการคุมขังผู้ต้องขังไว้ในห้องคุมขังของเรือนจำที่มีลักษณะเป็นโลกปิด ตัดขาดจากการติดต่อกับโลกภายนอก จะช่วยป้องกันการหลบหนี ช่วยลดการกระทาผิดต่างๆในเรือนจา ช่วยปรับเปลี่ยนพฤติกรรม ช่วยบั่นทอนศักยภาพ และความสามารถในการกระทาผิดของผู้ต้องขังได้”
            ในปัจจุบันการขังเดี่ยวนิยมใช้ในเรือนจำซุปเปอรแม็กซ์ ซึ่งในทางปฏิบัติโดยทั่วไปผู้ต้องขังจะถูกคุมขังอยู่ในห้องวันละ 23 ชั่วโมง (ที่เหลืออีก 1 ชั่วโมงเป็นเวลาสำหรับการออกกาลังกายหรือเดินเล่นคนเดียวและทำกิจกรรมอื่นๆตามที่กำหนด) เป็นเรือนจำที่ออกแบบมาเพื่อแยกผู้ต้องขังจากสิ่งแวดล้อมและสิ่งเร้า ทางสังคมในเรือนจำโดยใช้มาตรการควบคุมและป้องกันการหลบหนีแบบพิเศษ (ข้อมูลจากเว็บไซต์ http://www. spunk.org /texts /prison/sp001611.txt อลิซ แวล รายงานวิจัย เรื่อง เรือนจาซุปเปอร์แม็กซ์ มีนาคม 1996)

  • การขังเดี่ยวในประเทศไทย
       การขังเดี่ยวในประเทศไทย สามารถแบ่งได้เป็น 2 เรื่อง ใหญ่ๆ คือ
    • ในทางกฎหมาย การขังเดี่ยวของเรือนจำไทยปรากฏอยู่ในพระราชบัญญัติราชทัณฑ์ พุทธศักราช 2479 ประกาศในราชกิจจานุเบกษา เล่มที่ 53 ตอนที่ 46 วันที่ 29 พฤศจิกายน 2479
              มาตรา 35 บัญญัติว่า เมื่อผู้ต้องขังคนใดกระทำผิดวินัย ให้เจ้าพนักงานเรือนจำผู้มีหน้าที่พิจารณาโดยถ่องแท้ แล้วลงโทษสถานหนึ่งสถานใด หรือหลายสถานดั่งต่อไปนี้                          
                      (6) ขังเดี่ยวไม่เกินสามเดือน
                      (7) ขังห้องมืดไม่มีเครื่องหลับนอนไม่เกินสองวันในสัปดาห์หนึ่งโดยความเห็นชอบของแพทย์ และ กฎกระทรวงมหาดไทย ออกตามความใน มาตรา 58 แห่งพระราชบัญญัติราชทัณฑ์ พุทธศักราช 2479 ประกาศในราชกิจจานุเบกษา เล่มที่ 45 ตอนที่ 6 วันที่ 26 เมษายน 2480 
               ข้อ 111 ขังเดี่ยวนั้น พึงกระทำในกรณีต่อไปนี้ 
                      (1) กระด้างกระเดื่องต่อเจ้าพนักงานซึ่งมีอำนาจบังคับบัญชาเรือนจำตั้งแต่ชั้นพัศดีขึ้นไป 
                      (2) วิวาทกับผู้ต้องขังอื่นตั้งแต่ 2 ครั้งขึ้นไป 
                      (3) เป็นเจ้ามือเล่น การพนัน หรือสมคบกับผู้ต้องขังอื่นเล่นการพนันตั้งแต่ 2 ครั้งขึ้นไป 
                      (4) ดื่มสุรา สูบกันชา ฝิ่น หรือเสพของเมาอย่างอื่นแต่ 2 ครั้งขึ้นไป 
                      (5) มีของต้องห้ามในจำพวกที่เป็นเครื่องมืออันเป็นอุปกรณ์ในการหลบหนี 
               ข้อ 112 ขังห้องมืดนั้น พึงกระทำในกรณีต่อไปนี้ 
                      (1) ก่อการวิวาทกับผู้ต้องขังอื่นเนือง ๆ 
                      (2) พยายามหรือทำร้ายร่างกายเจ้าพนักงาน
                      (3) ก่อการวุ่นวาย แต่ไม่ร้ายแรง 
                      (4) จงใจหลีกเลี่ยงการงาน 
                      (5) จงใจขัดคำสั่งผู้บัญชา 
                      (6) ค้าสิ่งของต้องห้าม 
               ข้อ 118 การขังเดี่ยวนั้น ให้กระทำโดยวิธีแยกผู้ต้องรับโทษจากผู้ต้องขังอื่นและคุมขังไว้ ในที่ซึ่งจัดขึ้นเป็นพิเศษ ห้ามการติดต่อหรือพูดจากับผู้อื่นทั้งสิ้น ให้พัศดีจัดให้มีผู้คอยตรวจรักษาการขังเดี่ยว ให้เป็นไปตามวรรคก่อน และสังเกตเมื่อมีอาการป่วยเจ็บซึ่งต้องมีการรักษาพยาบาลเกิดขึ้น 
               ข้อ 119 ห้องมืดซึ่งจะใช้เป็นที่ขังลงโทษนั้นต้องให้แพทย์ได้ตรวจเห็นชอบด้วยว่าไม่ผิด อนามัยอย่างร้ายแรง

          จากพระราชบัญญัติราชทัณฑ์ พุทธศักราช 2479 มาตรา 35 และ กฎกระทรวงมหาดไทย ออกตามความในมาตรา 58 แห่งพระราชบัญญัติราชทัณฑ์ พุทธศักราช 2479 ข้อ 111 ดังกล่าว จะเห็นได้ว่าการขังเดี่ยว สามารถดาเนินการได้เฉพาะกรณีเมื่อผู้ต้องขังกระทาำผิดวินัย และเจ้าพนักงานเรือนจำ ผู้มีหน้าที่พิจารณาลงโทษและมีคำสั่งลงโทษทางวินัย โดยการขังเดี่ยวได้ไม่เกินสามเดือนเท่านั้น จะขังเดี่ยวโดยสาเหตุอื่นๆ ไม่ได้โดยเด็ดขาดเพราะไม่มีกฎหมายรองรับหรือให้อานาจไว้

ขังเดี่ยว

    • ในทางปฏิบัติ
               ในปัจจุบันเรือนจำต่างๆ ในประเทศไทย ยังมีการลงโทษทางวินัยโดยการขังเดี่ยวตามกฎหมายราชทัณฑ์ดังกล่าวอยู่ ปรากฏหลักฐานตามหนังสือกรมราชทัณฑ์ ที่ ยธ 0705.1/19533 เรื่อง ซักซ้อมความเข้าใจการนำผู้ต้องขังไปคุมขังในอาคารห้องขังเดี่ยว และการให้ความร่วมมือผู้ตรวจการแผ่นดิน ลงวันที่ 17 มิถุนายน 2557 ความว่า “.....การใช้อาคารห้องขังเดี่ยว 10 ห้อง ตามที่กรมฯ ได้ออกแบบแปลนอาคารก่อสร้างให้เป็นการใช้เพื่อการลงโทษขังเดี่ยวเพียงประการเดียว เนื่องจากสภาพอาคารสมควรที่จะใช้เพื่อการลงโทษ การนำผู้ต้องขังอื่นที่มิได้ถูกลงโทษขังเดี่ยว เช่น ผู้กระทำความผิดวินัยและยังอยู่ระหว่าง การสอบสวน ผู้ต้องแยกขังเพื่อการคุ้มครองชีวิต เป็นต้น อาจไม่เป็นธรรมกับผู้ถูกคุมขังยังอาคาร ดังกล่าว และจะเกิดการร้องเรียนขึ้นได้ ซึ่งจะยากต่อการชี้แจงและทำความเข้าใจกับหน่วยงานภายนอก รวมทั้งอาจสร้างทัศนคติในทางลบให้กับผู้ต้องขังที่ถูกนาไปคุมขังโดยไม่มีความผิดด้วย.....”

อาคารคุมขังขนาด 4 ชั้น ของแดนซุปเปอร์แม็กซ์ เรือนจำกลางเขาบิน จังหวัดราชบุรี

โดยสรุป 

            แนวคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ของรัฐบาลกลางสหรัฐอเมริกา โดยสหภาพพลเรือนอเมริกันเพื่อเสรีภาพ และพวก (กลุ่มสิทธิมนุษยชน สำนักงานกฎหมายเรือนจำ บริษัท กฎหมายเพอร์กิ้นส์ คอยส์ และโจนส์วัน) ในฐานะผู้รับมอบอำนาจจากนักโทษในเรือนจำมลรัฐแอริโซนาเป็นโจทก์ ฟ้องกรมราชทัณฑ์ มลรัฐแอริโซนา จำเลย ข้อหา “.....จงใจ ละเลย ไม่ดูแลสุขภาพขั้นพื้นฐานของนักโทษโดยเฉพาะนักโทษขังเดี่ยว ที่มีความเสี่ยงที่สำคัญของอันตรายร้ายแรงต่อร่างกายและจิตใจ ไม่เคารพศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ และละเมิดสิทธิมนุษยชน.....” โดย “ศาลอุทธรณ์ของรัฐบาลกลางสหรัฐอเมริกา ได้พิพากษาเมื่อวันที่ 5 มิถุนายน 2557 ว่า “.....คำให้การแก้ข้อกล่าวหาของกรมราชทัณฑ์ มลรัฐแอริโซนาที่ได้ปฏิเสธข้อกล่าวหาของโจทก์ (รายละเอียดปรากฏตามคำให้การ ดังกล่าวข้างต้น) ฟังไม่ขึ้น และอนุญาตให้สหภาพพลเรือนอเมริกันเพื่อเสรีภาพ และพวก (กลุ่มสิทธิมนุษยชน สำนักงานกฎหมายเรือนจำ บริษัท กฎหมาย เพอร์กิ้นส์ คอยส์ และโจนส์วัน) ในฐานะผู้รับมอบอำนาจจากนักโทษในเรือนจำมลรัฐแอริโซนา เป็นตัวแทนของนักโทษเรือนจำแอริโซนา สามารถฟ้องกรมราชทัณฑ์ มลรัฐแอริโซนากรณีจงใจ ละเลย ไม่ดูแลสุขภาพ ดูแลสุขภาพนักโทษไม่ทั่งถึง ทำให้นักโทษมีความเสี่ยงและอันตรายร้ายแรงของสุขภาพ ในขณะที่รอการดูแลสุขภาพขั้นพื้นฐานโดยเฉพาะนักโทษขังเดี่ยว ที่มีความเสี่ยงที่สาคัญของอันตรายร้ายแรง ไม่เคารพศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ และเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชน ที่เกิดจากการดำเนินงาน ตามนโยบายของ กรมราชทัณฑ์ มลรัฐแอริโซนาได้.....” นั้น ซึ่งจากผลของคำพิพากษา ดังกล่าวทำให้นักโทษ ประมาณ 33,000 คน ของกรมราชทัณฑ์ มลรัฐแอริโซนา มีสิทธิ์ฟ้องกรมราชทัณฑ์ มลรัฐแอริโซนา ให้รับผิดชอบในความเสียหายได้ อย่างไรก็ตามในทางปฏิบัติกรมราชทัณฑ์ มลรัฐแอริโซนาคงไม่เห็นพ้องด้วยและอาจยื่นต่อสู้ในชั้นฎีกา ซึ่งต้องติดตามคำพิพากษาของศาลฎีกาของรัฐบาลกลางสหรัฐอเมริกาต่อไป สาหรับกรณีของเรือนจำในประเทศไทยที่ในปัจจุบันยังมีการลงโทษทางวินัยโดยการขังเดี่ยวตามพระราชบัญญัติราชทัณฑ์ พุทธศักราช 2479 ในเรือนจำและทัณฑสถานโดยทั่วไป นั้น เห็นว่าถ้าศาลฎีกาของรัฐบาลกลางสหรัฐอเมริกาพิพากษายืนตามศาลอุทธรณ์ ก็อาจส่งผลกระทบถึงแนวทางการปฏิบัติด้านสิทธิมนุษยชนและแนวทางการลงโทษทางวินัยโดยการขังเดี่ยวของเรือนจำในประเทศไทยในฐานะที่เป็นประเทศสมาชิกของสหประชาชาติเช่นเดียวกันกับประเทศสหรัฐอเมริกา ที่อาจจะต้องเพิ่มความระมัดระวังและ ลดระดับความเข้มข้นในการปฏิบัติต่อนักโทษขังเดี่ยวที่จะต้องคำนึงถึงการดูแลรักษาสุขภาพนักโทษ ศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ และสิทธิมนุษยชนให้มากยิ่งขึ้น 
.............................................

วันศุกร์ที่ 14 พฤศจิกายน พ.ศ. 2557

ทำไมใช้สังข์รดน้ำในพิธีแต่งงาน

        สังข์เป็นหอยทะเลกาบเดี่ยว  เปลือกมีสีขาวบริสุทธ์ เนื้อแข็งละเอียด ผู้นับถือศาสนาพราหมณ์ถือว่าสังข์เป็นของศักดิ์สิทธ์และเป็นมงคล เพราะหอยสังข์สีขาว ไม่มีลวดลายไฝฝ้าราคี อีกทั้งเปลือกหอยนั้นเวียนขวา เมื่อเทน้ำออกมาน้ำก็ไหลเวียนขวาอันเป็นทิศทางที่ถือกันว่าเป็นมงคล  แต่เหตุผลที่สำคัญที่สุดก็คือ พระนารายณ์ซึ่งเป็นเทพเจ้าของพวกพราหมณ์ ทรงสังข์ด้วยอย่างหนึ่ง พระนารายณ์นั้นมีสี่กร แต่ละกรถือของอย่างหนึ่งดังนี้ คือ คทา  จักร สังข์ และดอกบัว  ด้วยเหตุที่พระนารายณ์ทรงสังข์ พระนามหนึ่งของพระองค์จึงมีว่า "สังขกร" แปลว่า ผู้มีสังข์อยู่ในมือ

       ด้วยเหตุนี้พราหมณ์จึงใช้หอยสังข์ในพิธีมงคล  ไม่ว่าใช้เป่าหรือใช้ใส่น้ำมนต์ รวมทั้งใช้หลั่งน้ำแก่คู่สมรส ซึ่งเป็นธรรมเนียมที่ไทยรับมาจากพราหมณ์นั่นเอง

ที่มา   108 ซองคำถาม เล่ม 7 กรุงเทพฯ สารคดี 2543

วันพฤหัสบดีที่ 13 พฤศจิกายน พ.ศ. 2557

เหตุใดมนุษย์จึงดื่มน้ำทะเลไม่ได้

           นกทะเลและสัตว์เลื้อยคลานหลายชนิดจะมีต่อมพิเศษสำหรับขับเกลือออกจากร่างกายโดยเฉพาะ  นกนางนวลสามารถดื่มน้ำทะเลได้ถึง 1 ใน 10 ของน้ำหนักตัวมัน  และสามารถกำจัดเกลือที่มีมากเกินไปได้ภายในเวลาประมาณสามเชื่อโมงเท่านั้น เนื่องจากมันมีต่อมมหัศจรรย์สำหรับกำจัดเกลือ  ถ้ามนุษย์จำต้องดื่มน้ำทะเลในสัดส่วนเท่า ๆ กัน คือสองแกลลอน (7.56 ลิตร) น้ำจะถูกดูดออกจากร่างกายเนื่องจากความพยายามที่จะกำจัดเกลือที่มีมากเกินไปออกจากร่างกาย  ไม่มีสัตว์ชนิดใดมีเกลือสะสมอยู่ในร่างกายได้เกินกว่าร้อยละ 0.9 เกลือที่มีมากเกินกว่าจำนวนนี้ จะถูกขับออกมากับปัสสาวะ ไตของมนุษย์ไม่สามารถสกัดเกลือที่มีอยู่ในปัสสาวะเกินกว่าร้อยละ 2.2 ดังนั้นมนุษย์จึงไม่สามารถดื่มน้ำทะเล ซึ่งมีเกลือผสมอยู่ถึงร้อยละ 3.5 ได้ ม้าสามารถสกัดเกลือที่มีอยู่ในปัสสาวะของมันได้เพียงร้อยละ 1.5 เนื่องด้วยไตของม้าไม่มีประสิทธิภาพ ดังนั้นมันจึงไม่สามารถดื่มน้ำกร่อยซึ่งมนุษย์สามารถบริโภคได้
          อูฐสามารถสกัดเกลือได้มากเกือบสองเท่าของเกลือในน้ำทะเล นอกจากนี้ปลาวาฬซึ่งเป็นสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมอาศัยอยู่ในใหาสมุทรก็ยังมีไตที่มีประสิทธิภาพ  ทำให้มันสามารถดื่มน้ำทะเลได้โดยไม่เป็นอันตรายแต่อย่างใด

ที่มา  108/ ซองคำถาม เล่ม 7 กรุงเทพฯ  สารคดี 2543

วันอังคารที่ 4 พฤศจิกายน พ.ศ. 2557

ส่วนไหนของพริกที่เผ็ดที่สุด

       สารในเม็ดพริกที่ทำให้เรารู้สึกเผ็ด เรียกว่า แค็บไซซิน (capsaicin) มีอยู่มากที่ไส้ใน รองลงมาคือเมล็ด เพราะฉะนั้นถ้าเราเลาะเอาไส้และเมล็ดออก ความเผ็ดจะลดลงถึงร้อยละ 90 ยิ่งถ้าเอาพริกไปต้ม ความเผ็ดก็แทบไม่เหลือหลอ 
       


       เคยสงสัยหรือไม่ว่า พริกเผ็ดอย่างนี้ เหตุใดบางคนจึงชอบกินเผ็ดมาก ? 

       เภสัชกร สรจักร ศิริบริรักษ์ เล่าไว้ใน เภสัชโภชนาว่า พอลโรซิน นักจิตวิทยาแห่งมหาวิทยาลัยเพนซิลวาเนียค้นพบว่า ความเผ็ดจะไปกระตุ้นสมองให้หลั่งสารเอ็นดอร์ฟินในสมองส่วนกลาง ซึ่งมีฤทธิ์คล้ายมอฟีน 

       สารเอ็นดอร์ฟินนี้รู้จักกันดีว่าเป็นสารสร้างความสุข  ดังนั้นเมื่อรับประทานอาหารรสเผ็ดจัด  ผู้รับประทานจะเกิดความสุขไปพร้อม ๆ กัน และเป็นเหตุให้อยากเพิ่มปริมาณพริกในอาหารขึ้นทีละน้อย เพื่อให้ได้ความสุขมากขึ้น

       แต่แม้จะมีความสุขอย่างไรก็ตาม พึงสังวรณ์ไว้ด้วยว่า ภาษิตชาวบ้านที่ว่า "อร่อยปากลำบากตูด" นั้น ยังเป็นจริงเสมอ

ที่มา  หนังสือ 108 ซองคำถาม เล่ม 7 กรุงเทพฯ สารคดี 2553

วันจันทร์ที่ 3 พฤศจิกายน พ.ศ. 2557

ไส้กรอกประเภทต่าง ๆ

         เยอรมันเป็นต้นแบบของผลิตภัณฑ์ไส้กรอก ไส้กรอกจึงเป็นเหมือนสัญลักษณ์ของเยอรมันก็ว่าได้ คำว่าไส้กรอก (sausage) มีรากศัพท์จากภาษาละติน "salsus" หมายถึงเนื้อสัตว์ที่มีการเก็บรักษาโดยใช้เกลือ สำหรับภาษาเยอรมันมาจากคำว่า "wurst" หมายถึง เนื้อที่เตรียมได้จากการบดให้ละเอียด ผสมเลือ เครื่องเทศ และเครื่องปรุงรสอื่น ๆ บรรจุในไส้หรือพิมพ์ ความแตกต่างของไส้กรอกขึ้นอยู่กับชนิดของเครื่องเทศที่ใช้ สัดส่วนของเนื้อและไขมัน ชนิดของเนื้อและวิธีการทำ เยอรมันจึงมีไส้กรอกมากกว่า 1,500 ชนิด ซึ่งจะมีชื่อเรียกตามชนิดของไส้กรอก เครื่องเทศที่ใช้ ไส้ที่บรรจุ และแหล่งที่ผลิด
ไส้กรอกแบ่งเป็นสามประเภทใหญ่ ๆ คือ

        1. ไส้กรอกสด Bruhwurst (fresh pork sausage) ทำจากเนื้อหมูผสมเครื่องเทศ เครื่องปรุงรส น้ำแข็ง บรรจุไส้หรืออัดใส่พิมพ์ จะรมควันหรือไม่รมควันก็ได้ตามแต่ชนิด ไส้กรอกประเภทนี้จะมีไขมันตั้งแต่ 15 - 50 เปอร์เซนต์ ในระหว่างการตีส่วนผสมอุณหภูมิต้องไม่เกิน 10 องศาเซลเซียส จะทำให้คุณภาพไส้กรอกดีกว่าการตีส่วนผสมในที่อุณหภูมิสูง เนื่องจากมีการรวมตัวที่ดีของไขมันและน้ำ ไส้กรอกประเภทนี้จะนำไปต้มในน้ำร้อนอุณหภูมิ 85 องษาเซลเซียส ระยะเวลาขึ้นอยู่กับขนาดไส้กรอก เมื่ออุณหภูมภายในไส้กรอกเท่ากับ 60 องศาเซลเซียส แสดงว่าไส้กรอกสุกแล้ว ตัวอย่างของไส้กรอกชนิดนี้ได้แก่
            1.1) แฟรงเฟอร์เตอร์ (Frankfurter) ทำจากเนื้อหมูและเนื้อวัวในอัตราส่วน 40:60 มันหมูแข็ง น้ำแข็ง เครื่องเทศ เครื่องปรุงรส เป็นที่นิยมมากที่สุด บรรจุในไส้ขนาดเส้นผ่าศูนย์กลาง 2.5 ซม. ยาว 10 ซม. ถ้าบรรจุในไส้ขนาดเส้นผ่าศูนย์กลาง 2 ซม. ยาว 15 ซม. เรียกว่า เวียนนา ถ้าบรรจุในไส้ขนาดเส้นผ่าศูนย์กลาง 2 ซม. ยาว 4 ซม. เรียกว่า ค็อกเทลสไตล์แฟรงเฟอร์เตอร์
            1.2) ไส้กรอกกระเทียม ส่วนผสมเหมือนแฟรงเฟอร์เตอร์ แต่จะมีส่วนผสมของกระเทียมมาก บรรจุในไส้ขนาดเส้นผ่าศูนย์กลาง 1.5 ซม.ยาว 6 ซม.
            1.3) ไส้กรอกขาว (Weisswurst) ไม่มีส่วนผสมของเกลือไนไตรต์ เพราะต้องการให้มีสีขาว บรรจุในไส้เล็กของหมู ขนาดเส้นผ่าศูนย์กลาง 2.5 ซม. ยาว 10 ซม. ขายดิบ ๆ เวลากินต้องนำไปต้มหรือย่าง นิยมกินกับกะหล่ำปลีดอง (sauekraut) 

         2. ไส้กรอกสุก Kochwurst (cooked sausage) มีส่วนผสมของของสุกบางส่วนและสดบางส่วน ผสมเครื่องเทศ เครื่องปรุงรส บรรจุไส้แล้วนำไปทำให้สุก ได้แก่ 
             2.1) ไส้กรอกตับ Leberwurst (liver sausage) มีส่วนผสมสำคัญ คือเนื้อและมันหมูต้มสุก หอมหัวใหญ่ผัดเนย ตับสด เครื่องเทศ เครื่องปรุงรส
             2.2) ไส้กรอกเลือด Blutwurst (blood sausage) ส่วนผสมหลัก คือ เลือดหมูหรือเลือดวัวสดๆ ที่ไม่แข็งตัว มันหมูต้มสุกหั่นสี่เหลี่ยม เนื้อต้มสุกบดละเอียด ผสมเครื่องเทศ เครื่องปรุงรส บรรจุไส้นำไปต้มให้สุก

          3. ไส้กรอกดิบ Rohwurst (raw sausage) ไม่ผ่านการทำให้สุกด้วยวิธีใด ๆ ไส้กรอกชนิดนี้เก็บรักษาโดยเกลือ การตากแห้ง รวมถึงการรมควันที่อุณหภูมิต่ำ ๆ ไส้กรอกกลุ่มนี้จะมีกลิ่น รสชาดเฉพาะ ส่วนใหญ่จะเค็มและเปรียวเล็กน้อย เช่น
             3.1) ซาลามิ (Salami) ทำจากหมูเนื้อแดงหรือเนื้อวัวบดหยาบ มันหมูแข็งบดหยาบ เครื่องเทศ เครื่องปรุงรส อาจเติมไวน์แดงเพื่อหมักให้เกิดกลิ่นหอม และบรรจุไส้นำไปหมักไว้ที่อุณหภูมิไม่เกิน 20 องศาเซลเซียส ความชื้นสัมพัทธ์น้อยกว่า 60 เปอร์เซนต์ 
             3.2) เปปเปอโรนิ (Pepperoni) ทำจากเศษเนื้อหมูหรือวัวผสมมันหมูแข็งบดหยาบ พริกป่น เครื่องเทศ เครื่องปรุงรส บรรจุไส้ ผึ่งให้แห้งที่อุณหภูมิห้อง 

           ที่กล่าวมานี้เป็นเพียงตัวอย่างบางส่วนของไส้กรอกเยอรมันเท่านั้น เพียงเพื่อให้สามารถแยกประเภทไส้กรอกตามกระบวนการผลิตได้

ที่มา     หนังสือ 108 ซองคำถาม เล่ม 7 กรุงเทพ สารคดี 2543 

วันเสาร์ที่ 1 พฤศจิกายน พ.ศ. 2557

ความสกปรกและภยันตรายปลายท่อ : สภาวะลืมเหตุ ไม่สนใจผลของสังคมที่เอาแต่คาดหวัง



* มานะ  วินทะไชย  

ในคราวสัมมนาเชิงปฏิบัติการยกร่างแผนทิศทางกรมราชทัณฑ์ฉบับที่ 3 พ.ศ.2554-2558 ในขั้น SWOT Analysis อุปสรรคหรือภัยคุกคาม (Threats) (กรมราชทัณฑ์,2554;20-22) ที่พิจารณาด้วยมุมมอง Outside-In และติดอยู่ในใจผู้เขียนเสมอมา ประกอบด้วย
       1. รัฐบาลเรียกร้องและคาดหวังต่อ “การคืนคนดีสู่สังคม”ของกรมราชทัณฑ์ แต่ไม่ให้ความสำคัญและมีทัศนคติที่ไม่ดีต่อการปฏิบัติงานของกรมราชทัณฑ์
       2. ผู้ต้องขังเป็นบุคคลด้อยโอกาส รัฐบาลมองเป็นภาระ ไม่ให้ความสนใจ แต่ก็คาดหวังสูงต่อกรม
ราชทัณฑ์ให้เปลี่ยนภาระเป็นพลังสร้างสรรค์สังคม
       3. สังคมไม่เชื่อมั่นกระบวนการแก้ไข ไม่ยอมรับ ไม่เปิดโอกาสให้กับผู้พ้นโทษ “คนดี คืนสู่สังคม” ส่งผลต่อการกลับมากระทำผิดซ้ำและเป็นปัญหาที่กรมราชทัณฑ์ต้องแบกรับต่อไป 
       4. การบูรณาการการทำงานเพื่อแก้ไขปัญหาผู้ต้องขังล้นเรือนจำของหน่วยงานในกระบวนการ
ยุติธรรมเกิดขึ้นได้ยาก ปัจจัยสำคัญเกิดจากโครงสร้าง/สังกัด/กฎ/ระเบียบ/วัฒนธรรม/ฐานความเชื่อ/กระบวนการปฏิบัติงานของแต่ละหน่วยงานและการไม่ตระหนักถึงความสำคัญต่อปัญหาของกระบวนการ ส่งผลให้ “ผู้ต้องขังล้นเรือนจำ เป็นปัญหาเฉพาะของกรมราชทัณฑ์เท่านั้น หาใช่ปัญหาของใคร และไม่เกี่ยวข้องแต่อย่างใดกับกระบวนการ

อุปสรรคหรือภัยคุกคามข้างต้นบางประเด็นอาจจะไม่เป็นปัญหาเมื่อแรกก่อตั้งหน่วยงานแห่งนี้ แต่บางข้อโดยเฉพาะอย่างยิ่งในเรื่องทัศนคติและความเชื่อมั่นของรัฐและสังคมต่องานราชทัณฑ์ ที่มักไม่ได้รับการเหลียวแล เอาใจใส่ ดูคล้ายกับว่าเป็นมรดกที่ได้รับตกทอด สืบเนื่องมายาวนานทั้งที่ใจไม่ปรารถนา ทั้งนี้อีก 2 ปี ข้างหน้า กรมราชทัณฑ์จะมีอายุการสถาปนาครบศตวรรษ ใช่หรือไม่ว่า ประเด็นปัญหานี้ จะคงอยู่เป็นความท้าทายให้เราร่วมกันหาทางแก้ไข เพื่อพิสูจน์ตนเองว่าการดำรงตนคงอยู่มาได้ร่วม 100 ปีนั้น    ใช่ว่าอยู่ได้เพราะภารกิจนี้ ไม่มีใครทำ งานนี้ไม่มีคู่แข่งให้เทียบเปรียบสมรรถนะ ทำดีหรือไม่ดี ก็ต้องเลี้ยงไว้ หรือว่าที่อยู่มาได้จนถึงทุกวันนี้ เป็นความสามารถในการปรับตัว และปรับเปลี่ยนการทำงานที่สอดคล้องสภาวะความเปลี่ยนแปลงทางการเมือง เศรษฐกิจ สังคม วัฒนธรรมและเทคโนโลยีมาทุกยุคทุกสมัย กล่าวคือ ทำได้...เอาอยู่ แม้จะไม่ได้รับการสนับสนุนอย่างยั่งยืนจากภาคส่วนต่างๆเท่าที่ควร

แต่อย่างไรก็ตามนอกจากปัญหาเรื่องทัศนคติและความเชื่อที่กรมราชทัณฑ์ประสบเรื่อยมานั้น  ยังต้องเผชิญกับปัญหาเชิงกลไกภาครัฐที่ต่างหน่วยต่างทำ ต่างอยู่และต่างรับผิดชอบเฉพาะหน้าตักของตน โดยไม่นำพาต่อผลกระทบสังคมและประชาชนในภาพรวม ซึ่งไกลตัวและจับต้องไม่ได้ ดัวยเหตุนี้ สภาวะ 100 ปีแห่งความโดดเดี่ยว แดนสนธยา และปลายท่อน้ำทิ้ง ในมุมมอง Outside-In ดังกล่าว จึงเป็นผลของการ “ถูกกระทำ”ที่กรมราชทัณฑ์ต้องแบกรับ

ผู้เขียนได้อ่านบทความเรื่อง ปล่องไฟสูง (นิธิ เอียวศรีวงศ์:133-137) สรุปความว่า“ในสังคมอุตสาหกรรม โรงงานจะสร้างปล่องไฟสูง เพื่อให้ควันไฟที่ปล่อยออกมา ถูกลมพัดพาไปไกล นับร้อยไมล์ กว่าฝุ่นละอองและมลพิษจะตกลงมา ก็จับมือใครดมไม่ได้ว่ามาจากไหน โรงงานก็ปลอดภัยจากคดีแพ่ง คดีอาญาเพราะปล่องไฟสูง หรือเรียกอีกอย่างหนึ่งว่าเป็นเทคโนโลยีปลายท่อ ที่มีประสิทธิภาพต่ำ ที่ความสกปรกและภยันตรายทั้งหลาย ไม่ได้ทำความสะอาดก่อนปล่อยออกสู่บรรยากาศ ยิ่งกว่านั้น ยังมีการต่อท่อให้ยาวไกลจนกระทั่งความสกปรกไปตกแก่คนอื่น โดยไม่สามารถหาต้นตอที่แท้จริงได้” ทั้งนี้ ผู้เขียนไม่แน่ใจว่าระบบความคิดในยุคปฏิวัติอุตสาหกรรมที่ให้ความสำคัญกับ Division of Labor อันมีสายพานการผลิตตามความชำนาญและยืดยาว จะมีอิทธิพลต่อสำนักความคิดด้านสังคมศาสตร์สาขาต่างๆ รวมทั้งกระบวนการยุติธรรมกระแสหลักหรือไม่ ข้อเท็จจริงที่ปรากฏจะบังเอิญหรือตั้งใจ ความสูงของปล่องไฟ ช่างละม้าย สายพานงานยุติธรรมอันยาวไกล และมักสิ้นสุดลงที่งานราชทัณฑ์ หรือเรือนจำ อาจกล่าวได้ว่ามันคือ ปล่องไฟในแนวราบ หรือท่อน้ำทิ้งของกระบวนการยุติธรรมที่ทอดยาว ซึ่งส่งผลให้ความสกปรกและภยันตราย (ผู้ต้องขัง) อันเกิดจากสภาพบีบคั้น หรือทนได้ยากทางสังคม การเมือง ความเหลื่อมล้ำทั้งแง่การครอบครองและเข้าถึงปัจจัยทางเศรษฐกิจ ตลอดจนความเท่าเทียมกันทางรายได้และการกระจายโอกาส ตกตะกอนนอนแน่นิ่งอยู่ที่ปลายทางของท่อน้ำทิ้งกว่า 240,000 คน (มกราคม 2556) ที่อัตคัดการเหลียวแลและเอาใจใส่จากทั้งฝ่ายการเมือง ภาครัฐและสังคมอย่างจริงจัง ย่อมขาดซึ่งทรัพยากรที่เพียงพอต่อการ “แก้ไข ฟื้นฟูและพัฒนา” ทว่ากลับคาดหวังให้บ่อน้ำทิ้ง ทำหน้าที่เป็นบ่อบำบัดน้ำเสีย เพื่อส่งต่อน้ำดีอันอุดมด้วยออกซิเจนกลับคืนสู่แหล่งน้ำธรรมชาติ ในสภาพที่ใกล้เคียง หรือดีเสมอกัน ก่อนกลายเป็นน้ำร้ายแต่หลงลืมไปว่าขณะที่กระบวนการบำบัดได้ขับเคลื่อนอยู่นั้น น้ำเสียทิ้งปลายท่อก็ยังไม่หยุดไหลมาจากต้นทางอันยาวไกล ไกลจนจับไม่ได้เช่นเดียวกันว่าใครเป็นต้นเหตุ ลืมไปว่าอะไรกันแน่ที่มีส่วนร่วมในการสร้างและก่อให้เกิด “ความสกปรกและภยันตราย” อีกทั้งพร้อมใจกันผลิตซ้ำ (Reproduction) ทัศนคติและความเชื่อที่ว่า “น้ำยังคงเสีย สร้างความเดือดร้อนต่อสังคมและประชาชน เพราะหน่วยงานบำบัดขาดประสิทธิภาพ” เป็นท่วงทำนองปัดสวะความรับผิดชอบไปที่หน่วยงานปลายท่อ จึงยังคงได้รับการกล่าวอ้างและใช้เป็นคำตอบสุดท้ายมาอย่างต่อเนื่อง สำหรับสังคมที่ชมชอบซุกขยะใต้พรมหรือปัดฝุ่นผงให้พ้นบ้านตน ร่วมกับความพยายามหา “แพะ” ซึ่งหมายถึงการหันเหความสนใจออกจากปัญหาสังคมอันรุนแรงที่กำลังเผชิญอยู่ (จอห์น เออร์วิน:209) รุนแรงอย่างไร ? พิจารณาจากสิ่งใด? ผู้เขียนอ้างคำกล่าวของ Fyodor Dostoyevsky ประพันธกรผู้ยิ่งใหญ่ชาวรัสเซีย “เราตัดสินระดับอารยธรรมในแต่ละสังคมได้จากสภาพเรือนจำ” (ริชาร์ด วิลกินสัน และ เคท พิคเกตต์ : 199) กล่าวคือ สภาพเรือนจำของบ้านเรา เป็นอย่างไร ย่อมสามารถชี้วัดระดับอารยธรรมของสังคมเราได้ตามสภาพนั้น ดังนั้น ในฐานะที่องค์ประกอบต่างๆในสังคม มีส่วนในการสร้างอารยธรรมดังกล่าวขึ้นมา จึงต้องรับผิดชอบร่วมกัน !  ไม่ใช่ทิ้งภาระให้กรมราชทัณฑ์ เพียงลำพัง
 
เอกสารอ้างอิง

กรมราชทัณฑ์.2555.เอกสารร่างแผนทิศทางกรมราชทัณฑ์ ฉบับที่ 3 พ.ศ.2554-2558. 
         (อัดสำเนา)
นิธิ  เอียวศรีวงศ์.2546.ไฮเทคคาถาปาฏิหาริย์.สำนักพิมพ์มติชน.กรุงเทพมหานคร
ริชาร์ด วิลกินสัน และ เคท พิคเกตต์.“การจองจำและการลงโทษ” น.199 ความไม่เท่าเทียม. 
         สำนักพิมพ์โอเพ่นเวิร์ล.กรุงเทพมหานคร