คลังบทความของบล็อก

วันศุกร์ที่ 31 ตุลาคม พ.ศ. 2557

นิยัตินิยม (Determinism) : กับการคืน “คนดี”สู่สังคม



* มานะ  วินทะไชย  


          เป้าหมายสูงสุดของงานราชทัณฑ์ คือการส่งมอบ คนดี ภายหลังผ่านกระบวนการควบคุม แก้ไขและพัฒนาพฤตินิสัยที่เชื่อว่าได้มาตรฐานให้แก่สังคม แต่ปัญหาที่เป็นเครื่องบ่งชี้ถึงความล้มเหลวของกระบวนการและบั่นทอนความเชื่อมั่นต่อประสิทธิภาพการปฏิบัติงานขององค์กรในสายตาของรัฐและสังคม คือ การกลับมากระทำผิดซ้ำของผู้พ้นโทษ ซึ่งบอกกล่าวและอ้างอิงกันมายาวนานว่า เหตุหลักประการหนึ่ง คือ ความไม่เชื่อมั่นและการไม่ได้รับโอกาสจากภาครัฐและสังคม ไม่ว่าจะเป็นการจ้างงาน การประกอบอาชีพ การมีสิทธิในสวัสดิการ การได้รับบริการด้านต่างๆ แต่ผู้พ้นโทษก็มักถูกจำกัดสิทธิ ผ่านระเบียบ กฎหมาย การเลือกปฏิบัติภายใต้มาตรฐานที่แตกต่าง ทั้งนี้ในความเห็นของผู้เขียน มีชุดความคิด ความเชื่อที่อยู่เบื้องหลังและผลักดันการปฏิบัติของรัฐและสังคมต่อผู้พ้นโทษ ที่เรียกว่า นิยัตินิยม (Determinism)
 
          นิยัตินิยม คือ การอธิบายแบบมีเหตุ ที่ทำให้เกิดผล ซึ่งทำให้เกิดปรากฏการณ์ต่างๆ โดยการอธิบายจะมีคำตอบ หรือคำอธิบายกำหนดล่วงหน้าตายตัวอยู่แล้วในมิติเดียว โดยไม่คำนึงถึงความซับซ้อนหลากหลายที่มีอยู่ในปรากฏการณ์ต่างๆร่วมด้วย (เอก,2550:95

รัฐไทยมีชุดความเชื่ออย่างไร รัฐไทยที่มีโครงสร้างรัฐแบบรวมศูนย์ไว้ที่ศูนย์กลาง เพื่อรองรับระบอบอำนาจนิยม(เสกสรรค์,2554:91) กำหนดทุกอย่างภายใต้อุดมการณ์ ความสงบเรียบร้อยของสังคม และความมั่นคงแห่งรัฐ การกระทำใดที่ขัดหรือแย้งต่ออุดมการณ์ดังกล่าว ถือเป็นปฏิปักษ์ต่อรัฐและจำเป็นต้องจัดการให้อยู่ในกรอบ

          ในส่วนของสังคมตามรัฐ ภายใต้อุดมการณ์ข้างต้น โดยเชื่อว่า คนดี คือคนที่อยู่ภายใต้แนวทางที่รัฐกำหนด ไม่ละเมิดกฎเกณฑ์ของรัฐและทำร้ายสังคม

          ผู้ต้องขัง คือ ผู้ที่ทำลายกรอบนิยัตินิยมของทั้งรัฐและสังคมโดยสิ้นเชิง จึงเป็นที่มาของการเพ่งเล็ง เฝ้าระวัง บนพื้นฐานของความไม่เชื่อใจ ไม่ไว้วางใจ ประกอบกับรัฐและสังคมตกอยู่ใต้กับดักความคิดที่ว่า อดีตกำหนดปัจจุบันและตัดสินอนาคต กล่าวคือ ในอดีต ผู้ต้องขังคือผู้ที่ทำลายระเบียบ ข้อบังคับของรัฐ กฎเกณฑ์ของสังคม แม้ปัจจุบันจะกล่าวอ้างถึงความเป็นคนดีที่ผ่านกระบวนรับรอง แต่ก็ไม่แน่ใจในประสิทธิภาพของกระบวนการขัดเกลา และในอนาคต ก็มีแนวโน้มที่จะกระทำผิดซ้ำอีก ทั้งนี้ หาได้นำปัจจัยอื่นมาพิจารณาร่วมด้วย เช่น ความเชื่อ ความคิด ความรู้ ความจำเป็นทางเศรษฐกิจ และพื้นฐานครอบครัว    เป็นต้น 

นอกจากนี้ วาทกรรมที่กล่อมเกลาความเชื่อของรัฐและสังคมที่ว่า คนทำผิด ไม่มีทางแก้ไข ผู้ต้องขังอันตรายและไม่น่าไว้วางใจ” “คนทำผิด ไม่มีวันกลับตัวกลับใจได้ อีกทั้งสื่อสารมวลชนทุกแขนงก็มักประโคมข่าวอาชญากรรมร้ายแรงของผู้ที่เพิ่งพ้นโทษออกมาจากเรือนจำ ยิ่งเป็นการตอกย้ำ ความคิด ความเชื่อ จนยากจะไถ่ถอน ให้กลับมาเชื่อมั่นในศักยภาพของมนุษย์ที่สามารถพัฒนาสู่ความเป็นคนดี แม้ว่าจะผ่านกระบวนการแก้ไขมา 100 วิธี หรือ 1,000 โปรแกรมก็ตาม
 
เมื่อเป็นเช่นนี้ คนดี ที่เป็นผลผลิตของงานราชทัณฑ์จะถูกกีดกันออกจากพื้นที่ศูนย์กลางของรัฐและสังคม กลายเป็นคนชายขอบ ผู้ด้อยโอกาส ที่ปราศจากอำนาจต่อรอง เพื่อเรียกร้องปัจจัยพื้นฐานและการบริการของรัฐ ที่คนในประเทศจะพึงมีพึงได้ เช่น การประกอบอาชีพ ในสังกัดหน่วยงานภาครัฐและองค์กรเอกชน  การรับสวัสดิการและบริการที่เป็นสิทธิ ในฐานะพลเมืองของประเทศ หาใช่การรับการสงเคราะห์ ที่ต้องสำนึกในพระคุณอย่างที่ปฏิบัติกันอยู่ เป็นต้น ก็ย่อมมีความโน้มเอียงในการละเมิดกฎ ระเบียบ และทำร้ายสังคม ตั้งแต่ความผิดเล็กน้อย ไปจนถึงอาชญากรรมร้ายแรง

ทั้งนี้ หากรัฐและสังคมจะได้มองข้ามนิยัตินิยม โดยพิจารณาปัจจัยอื่นร่วมด้วย ในมิติการเมือง เศรษฐกิจ สังคม ประเพณี วัฒนธรรมและเทคโนโลยี กล่าวคือทำความเข้าใจปัจจัยพื้นฐานและความเกี่ยวข้องรอบด้าน ก่อนที่จะกำหนดหรือตัดสินใจในตัวตนและการกระทำใดๆ ของผู้พ้นโทษ จะพบว่าปัญหาที่เกิดขึ้นเป็นปัญหาของเราร่วมกันของทุกภาคส่วน หาใช่ของฝ่ายใด กลุ่มใด แต่เพียงอย่างเดียว ใช่หรือไม่ว่ารัฐและสังคม ก็มีส่วนในการผลักไส บีบคั้น ไม่ว่าทางตรงหรืออ้อม ให้เขาเหล่านั้นกลายเป็นผู้กระทำผิด แล้วเหตุใดจึงไม่ลองหยิบยื่นโอกาสด้วยมุมมองใหม่

เอกสารอ้างอิง
 
เสกสรรค์ ประเสริฐกุล.2554.เปลี่ยนประเทศไทยด้วยพลังพลเมือง ยุติการเมืองแบบหางเครื่อง.
             ปราชญ์ สำนักพิมพ์. กรุงเทพมหานคร
เอก ตั้งทรัพย์วัฒนา.2550.คำและความคิดในรัฐศาสตร์ร่วมสมัย.สำนักพิมพ์แห่งจุฬาลงกรณ์              มหาวิทยาลัย. กรุงเทพมหานคร

วันพฤหัสบดีที่ 30 ตุลาคม พ.ศ. 2557

ราชทัณฑ์ ธรรมาภิบาล ? [1]



* มานะ  วินทะไชย  



               ในการบริหารประเทศ เครื่องมือที่เป็นกลไกสำคัญยิ่งในการบริหารงานของรัฐ คือ ภาคราชการในการดำเนินกิจการและการบริหารงานประเทศของรัฐบาลมาทุกยุคทุกสมัย ทั้งในด้านสังคม เศรษฐกิจ และการเมือง ทั้งนี้เพื่อให้ประเทศชาติสามารถดำรงอยู่ได้อย่างมีเสถียรภาพ การปฏิรูประบบราชการ จึงเป็นทางออกเพื่อให้ภาครัฐสามารถสนองตอบต่อการเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจ สังคม การเมืองและเทคโนโลยีอย่างรวดเร็วและต่อเนื่อง หรือเพื่อรองรับยุค โลกาภิวัตน์



               รัฐบาลจึงได้กำหนดมาตรการในการเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานของเจ้าหน้าที่ของรัฐให้มากขึ้น ด้วยการสร้างระบบบริหารกิจการบ้านเมืองที่ดี ทั้งนี้ เพื่อให้กลไกของประเทศ ได้แก่ ภาคราชการ ภาคเอกชนและภาคประชาชน ประสานความร่วมมือในการบริหารประเทศอย่างจริงจัง โดยรัฐบาลได้มีการออกระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการสร้างระบบบริหารกิจการบ้านเมืองและสังคมที่ดี พ.ศ. 2542 และต่อมาได้มีการออกพระราชกฤษฎีกาว่าด้วยหลักเกณฑ์และวิธีการบริหารกิจการบ้านเมืองที่ดี พ.ศ.2546 ซึ่งทั้งสองมาตรการ ประกอบด้วยสาระที่สามารถกำหนดเป็นหลักสำคัญในการปรับปรุงรูปแบบการบริหารและพัฒนาประเทศ ได้ 6 ประการ ได้แก่ หลักนิติธรรม หลักคุณธรรม หลักความโปร่งใส หลักความมีส่วนร่วม หลักความรับผิดชอบและหลักความคุ้มค่า นับเป็นหลักการพื้นฐานของการบริหารกิจการบ้านเมืองที่ดี



กรมราชทัณฑ์ มิได้แตกต่างไปจากส่วนราชการอื่นๆ ที่ต้องยึดหลักการสำคัญในการบริหารทั้ง 6 หลัก ดังกล่าว เพื่อให้สอดคล้องกับเป้าประสงค์ของรัฐบาลในการที่จะสร้างประชารัฐที่มีความเข้มแข็งและยั่งยืน เป็นระบบราชการที่ส่งเสริม สนับสนุนและให้บริการแก่ประชาชนด้วยความโปร่งใส ประชาชนสามารถเข้ามามีส่วนร่วม เข้ามาตรวจสอบการทำงานได้ อีกทั้งยังเป็นองค์กรที่ทรงไว้ซึ่งความมีคุณธรรม เสมอภาค และคำนึงถึงสิทธิเสรีภาพของประชาชนอย่างแท้จริง



การวิจัยครั้งนี้ เป็นการศึกษาความคิดเห็นของข้าราชการกรมราชทัณฑ์ที่มีต่อการนำหลักการบริหารกิจการบ้านเมืองที่ดีไปใช้ในการบริหารงานของกรมราชทัณฑ์ โดยวิจัยประชากรเฉพาะข้าราชการของกรมราชทัณฑ์ ที่ปฏิบัติหน้าที่ในสังกัดสำนักและกอง ซึ่งมี จำนวน 544 คน ในช่วงเดือนตุลาคม-ธันวาคม 2553



ผลการศึกษา

          ข้าราชการส่วนกลางกรมราชทัณฑ์ มีความคิดเห็นต่อการนำหลักการบริหารกิจการบ้านเมืองที่ดีมาใช้ในการบริหารงานของกรมราชทัณฑ์ ในภาพรวมอยู่ในระดับปานกลาง  คือ มีค่าเฉลี่ยเท่ากับ 3.63 เมื่อพิจารณาเป็นรายด้าน โดยแบ่งเป็น 6 ด้าน และเรียงลำดับค่าเฉลี่ยจากมากไปหาน้อย พบว่า



          1. หลักความโปร่งใส อยู่ในระดับมาก มีค่าเฉลี่ยเท่ากับ 3.75

          2. หลักความคุ้มค่า อยู่ในระดับมาก มีค่าเฉลี่ยเท่ากับ 3.73

          3. หลักคุณธรรม อยู่ในระดับปานกลาง มีค่าเฉลี่ยเท่ากับ 3.67

          4. หลักนิติธรรม อยู่ในระดับปานกลาง มีค่าเฉลี่ยเท่ากับ 3.57

          5. หลักความรับผิดชอบ อยู่ในระดับปานกลาง มีค่าเฉลี่ยเท่ากับ 3.55

          6. หลักการมีส่วนร่วม อยู่ในระดับปานกลาง มีค่าเฉลี่ยเท่ากับ 3.49



จากผลการศึกษาที่สามารถนำมาสรุปเป็นข้อเสนอแนะต่อหน่วยงานเพื่อการปรับปรุงภารกิจต่อไปในอนาคตและข้อเสนอแนะสำหรับการวิจัยในครั้งต่อไปได้  ดังนี้

1. ผลการศึกษาถึงความคิดเห็นของข้าราชการกรมราชทัณฑ์ต่อการนำหลักการบริหารกิจการบ้านเมืองที่ดีมาใช้ในการบริหารงานของกรมราชทัณฑ์ในภาพรวมอยู่ในระดับปานกลาง           (X=3.63) เนื่องจากภารกิจต่างๆ ไม่มีความชัดเจน และเป็นรูปธรรมที่สามารถถือเป็นหลักในการบริหารงานตามหลักการบริหารกิจการบ้านเมืองได้อย่างแท้จริง กรมราชทัณฑ์ควรมีการทบทวนภารกิจการอำนวยการและสนับสนุนทั้งหมดของสำนักและกองในสังกัดกรมราชทัณฑ์ รวมทั้งของเรือนจำและทัณฑสถานในส่วนภูมิภาคที่ต้องเกี่ยวข้องสัมพันธ์กันในการปฏิบัติงาน ว่าภารกิจใดควรมีอยู่และภารกิจใดควรปรับปรุง โดยการศึกษารูปแบบและวิธีการของระบบการบริหารกิจการบ้านเมืองที่ดีเพื่อใช้เป็นกรอบของการปรับและเพิ่มเติมภารกิจที่เหมาะสมขึ้นมาใหม่ให้สามารถดำเนินการได้อย่างเป็นรูปธรรม โดยจะต้องมีการดำเนินการอย่างจริงจัง ด้วยกรอบการกำกับ ติดตาม และประเมินผลการดำเนินงาน

2. เมื่อพิจารณาเป็นรายด้าน พบว่าความคิดเห็นของข้าราชการส่วนกลางกรมราชทัณฑ์ต่อการนำหลักการบริหารกิจการบ้านเมืองที่ดีมาใช้ในการบริหารงานของกรมราชทัณฑ์ ด้านหลักการมีส่วนร่วม กลุ่มตัวอย่างมีความเห็นด้วยน้อยที่สุด(X=3.49) โดยเฉพาะในประเด็น กรมราชทัณฑ์ไม่จำเป็นต้องทำการสำรวจความคิดเห็นของประชาชนที่มีต่อการปฏิบัติงานของข้าราชการเพราะผู้ที่มาติดต่องานราชทัณฑ์นั้น ต่างเป็นผู้มีส่วนได้หรือส่วนเสียผลประโยชน์จึงเกิดอคติต่อการทำงานได้ ทั้งนี้ เนื่องจากกรมราชทัณฑ์ในฐานะหน่วยงานราชการบริหารส่วนกลาง ยังคงมีการบริหารงานตามระบบราชการที่เข้มแข็ง กล่าวคือให้ความสำคัญกับ หลักการแบ่งงานกันทำ ยึดถือกฎ ระเบียบ เป็นหลัก   เน้นความสัมพันธ์แบบทางการไม่ยึดถือตัวบุคคล โดยไม่ให้ความสนใจกับการมีส่วนร่วมในการทำงาน แม้กระทั่งภายในฝ่าย/ส่วนของหน่วยงานเดียวกัน แต่มุ่งเน้นการทำงานตามหน้าที่และสายการบังคับบัญชาเท่านั้น โดยไม่ต้องการเกี่ยวข้อง สัมพันธ์กับภาคส่วนอื่น รวมถึงประชาชน กล่าวคือ ไม่ต้องการรับฟังความคิดเห็นหรือข้อเสนอแนะจากภาคส่วนต่างๆ เพื่อปรับปรุงการปฏิบัติงานของหน่วยงาน    หากไม่มีกฎ หรือระเบียบรองรับ ซึ่งขัดแย้งกับหลักการบริหารงานแบบมีส่วนร่วม ตลอดจนบทบัญญัติรัฐธรรมนูญและหลักการบริหารกิจการบ้านเมืองที่ดี ที่เน้นหนักและให้ความสำคัญกับการบริหารงานแบบมีส่วนร่วมกับทุกภาคส่วน หรือการบูรณาการเพื่อประสิทธิภาพการทำงาน โดยเฉพาะอย่างยิ่งการมุ่งเน้นให้ประชาชนเป็นศูนย์กลาง (citizen centered) ซึ่งในเบื้องต้นจำเป็นต้องรับฟังเสียงสะท้อนการปฏิบัติงานของหน่วยงานจากประชาชนและภาคส่วนต่างๆ ด้วยเหตุดังกล่าว จึงจำเป็นต้องปรับเปลี่ยนการบริหารและพัฒนาหน่วยงานให้เป็นไปเพื่อการทำงานแบบมีส่วนร่วมกับทุกภาคส่วนในการให้บริการประชาชนภายใต้ภารกิจที่รับผิดชอบ ดังนั้นผู้บริหารควรเร่งปลูกจิตสำนึกให้กับข้าราชการให้มุ่งเน้นการทำงานแบบมีส่วนร่วม และกำหนดแนวทางหรือวิธีการบูรณาการการทำงานทั้งภายในและภายนอกองค์กรอย่างเป็นรูปธรรม โดยมีประชาชนในฐานะผู้มีส่วนได้เสียจากการปฏิบัติงานของหน่วยงาน เป็นศูนย์กลางในการทำงานหรือการให้บริการ ภายใต้การกำกับ ตรวจสอบและประเมินผลการทำงาน ที่มีประสิทธิภาพ

3. จากการศึกษาพบว่าความคิดเห็นของข้าราชการส่วนกลางกรมราชทัณฑ์ต่อการนำหลักการบริหารกิจการบ้านเมืองที่ดีมาใช้ในการบริหารงาน ด้านหลักความรับผิดชอบ (X=3.55) กลุ่มตัวอย่างมีความเห็นด้วยน้อยที่สุดรองลงมา โดยเฉพาะในประเด็นกรมราชทัณฑ์ขาดตัวชี้วัดผลการปฏิบัติงานทำให้ผู้ปฏิบัติงานขาดมาตรฐานในการทำงาน ซึ่งในความเป็นจริงแล้ว ตัวชี้วัดผลการปฏิบัติงาน เป็นเครื่องมือหรือกลไกสำคัญในการขับเคลื่อนการปฏิบัติงานของหน่วยงานและข้าราชการ ผ่านการกำกับ ควบคุม ตรวจสอบสิ่งที่ตั้งเป้าไว้หรือสิ่งที่มุ่งหมายไว้ด้วยตัวชี้วัดและมาตรฐานการทำงาน เพื่อเป็นเครื่องกำหนดผู้รับผิดชอบที่ชัดเจน ใช้ในการสื่อสารให้ทราบเพื่อถือปฏิบัติทั่วทั้งองค์กรและประการสำคัญที่สุด เพื่อการแสดงประสิทธิภาพและประสิทธิผลการทำงาน ดังนั้น ผู้บริหารควรให้ความสำคัญและสร้างความตระหนักในความรับผิดชอบต่อผลการดำเนินงานของหน่วยงานและข้าราชการ โดยการให้ตัวชี้วัดและมาตรฐานการทำงาน เป็นกรอบแนวทางการปฏิบัติงานอย่างจริงจัง เพื่อเป็นเครื่องมือในการตรวจสอบและประเมินผล ประสิทธิภาพการปฏิบัติงานของหน่วยงานได้อย่างแท้จริง

4. การแสวงหาแนวทางในการปฏิบัติของกรมราชทัณฑ์ที่เหมาะสมและสอดคล้องกับการดำเนินงานตามหลักหลักการบริหารกิจการบ้านเมืองที่ดี ได้แก่

    - การศึกษารูปแบบ  กระบวนการทางกฎหมาย เพื่อให้สอดคล้องกับรัฐธรรมนูญ สนองตอบต่อความต้องการของประชาชน มีความทันสมัยและปฏิบัติได้จริง

    - ศึกษารูปแบบการสรรหาผู้บริหารระดับสูง โดยการรับสมัครบุคลากรทั้งจากภายในและภายนอกหน่วยงาน ปรับกระบวนการคัดเลือกโดยใช้หลักประชาธิปไตยด้วยการให้ผู้สมัครแสดงวิสัยทัศน์การบริหารงานและให้บุคลากรกรมราชทัณฑ์ทั่วประเทศลงคะแนนเลือกตั้ง ทั้งนี้เพื่อให้เกิดความเป็นธรรมและได้ผู้บริหารมืออาชีพ

                    - ศึกษารูปแบบการทำสำนักงานอัตโนมัติ เพื่อเป็นการยกระดับมาตรฐานการทำงานของกรมราชทัณฑ์ให้ก้าวสู่มาตรฐานสากล

ผู้เขียนยอมรับว่าแม้ผลการศึกษาในภาพรวมจะอยู่ในระดับปานกลาง แต่จากการศึกษาเฉพาะข้าราชการส่วนกลางกรมราชทัณฑ์ หาใช่การศึกษาที่ครอบคลุมไปถึงข้าราชการในส่วนเรือนจำและทัณฑสถานแต่อย่างใด ผลการศึกษาดังกล่าวย่อมไม่อาจสะท้อนระดับ “ธรรมาภิบาล”ในงานราชทัณฑ์ได้อย่างแท้จริง    จึงจำเป็นต้องศึกษากลุ่มตัวอย่างให้ครอบคลุมทั้งข้าราชการในส่วนกลางและส่วนภูมิภาค เพื่อตรวจสอบว่า ภารกิจราชทัณฑ์ที่ดำเนินการอยู่นั้น สอดคล้องต้องกันกับหลักธรรมาภิบาลหรือไม่ ? เพื่อคลายความสงสัยหรือข้อข้องใจของผู้เขียน กล่าวคือ ใช่หรือไม่ว่า “ระดับปานกลาง”     มีค่าเท่ากับ ไม่แน่ใจ หรือไร้ซึ่ง ธรรมาภิบาล


……………………….





[1] สรุปความจาก มานะ วินทะไชย.2555 .ความคิดเห็นของข้าราชการกรมราชทัณฑ์ต่อการนำหลักการบริหารกิจการบ้านเมืองที่ดีมาใช้ในการบริหารงานของกรมราชทัณฑ์.ศิลปศาสตรมหาบัณฑิต, มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์.

วันพุธที่ 29 ตุลาคม พ.ศ. 2557

สาระสำคัญจากหนังสือคมคิดพิชิตความสำเร็จ ตอน 2

ผู้เขียน : สุรารักษ์  อุตมภาพ กรุงเทพฯ ไพลิน 2553
สรุปสาระ  : พลศักดิ์  บุญเกิด
.................................................................................................
21. เราเกลียดบางคนเพราะเราไม่รู้จัก และเราจะไม่มีทางรู้จักเพราะว่าเราเกลียด (คอลตัน)

22. สิ่งแรกที่เราควรรู้ในการสร้างความสัมพันธ์กับผู้อื่น คือ การไม่ก้าวก่ายความสุขของผู้อื่น เมื่อเป็นเช่นนั้นแล้ว จะไม่มีใครมาล่วงละเมิดความสุขของเราด้วยเช่นกัน

23. ความรุนแรงมักแพ้ภัยตนเองในที่สุด

24. เราอาจสั่งและผลักดันคนหนึ่งคนหรือฝูงชนได้ แต่เราทำให้เป็นเหมือนเราหรือเชื่อฟังนับถือเราไม่ได้

25. ความเกลียดชัง เป็นอันตรายต่อการดำเนินชีวิต

26. ความตื่นตระหนกทำให้เราโดดเดี่ยว และเป็นศัตรูของจินตนาการ

27. ไม่มีสังคม ครอบครัว หรือคนในชาติใด ที่จะได้รับประโยชน์ทั่วถึงกัน
      - ถ้าไม่ประกอบด้วยเจตนาที่ดี
      - ถ้าความร่วมมืออย่างใจเย็น ไม่อยู่เหนือความตระหนก
      - ถ้าเราทุกคนไม่เข้าใจและปฏิบัติต่อสวัสดิภาพของผู้อื่น ซึ่งหมายถึงสวัสดิภาพของเราเองอย่างผิดวิธี

28. เราทุกคนต้องเรียนรู้ ไม่ว่าเด็กหรือผู้ใหญ่ต่างมีโอกาสครั้งต่อไปเสมอ ไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง

29. เราทุกคนล้วนมีโอกาสพบสิ่งใหม่ๆ ได้ตลอดชีวิต แต่ไม่ได้เป็นโอกาสที่จะเหมือนเดิมทุกครั้ง

30. คนเราจะแตกต่างกันหรือไม่อยู่ที่เขาจะไขว่คว้าและใช้โอกาสแรกอย่างไร และจะรับมืออย่างไรหากมีอุปสรรค

31. คนอ่อนแอจะตื่นตระหนก คนเข้มแข็งจะมีสติ

32. ความสุขของคนที่ประสบความสำเร็จ คือ ความเกลียดชังของผู้ที่ผิดหวังเสมอ

33. มีคนที่รู้สึกไม่ดีทุกครั้ง ที่ได้ยินบางคนกล่าวชื่นชมเพื่อนบ้าน ในขณะเดียวกันคนเหล่านี้ จะรู้สึกดีในกรณีตรงกันข้ามด้วย เมื่อคน ๆ หนึ่งอิจฉาในความดีของคนอื่น แสดงว่าเขาไม่มีความดีนั้นเลย คนประเภทนี้ จะมีความสุขที่สุด เมื่อเขาได้ทำให้คนอื่นผิดหวังเหมือนกับเขา

34. การหลีกเลี่ยงความรู้สึกอิจฉา ความอิจฉาจะพาเราออกห่างจากความดีงาม

35. อาจมีคนรู้สึกอิจฉาและเกลียดคุณ ไม่ใช่เพราะไม่ชอบคุน แต่เพราะเขาไม่ได้อย่างคุณ

36. สนใจสิ่งที่พูด ไม่ใช่ผู้ที่พูด

37. คำว่า "ไม่" ที่กล่าวด้วยความจริงใจนั้น ดีและยิ่งใหญ่กว่าคำว่า "ใช่" ที่กล่าวเพื่อเอาใจหรือเพื่อหลีกเลี่ยงปัญหา

38. การเปิดเผย คือ การพูดตามสิ่งที่เราคิด ทำในสิ่งที่อ้างว่าทำได้ รักษาสัญญาที่ให้ไว้ และในความเป็นจริง คือการกระทำหรือสิ่งที่เราน่าจะเป็น

39. คนที่มีเหตุผลไม่ใช่คนที่ "ไม่กล้าตัดสินใจ" แต่มีความจริงใจและซื่อสัตย์ นั่นไม่ได้หมายความว่า คนประเภทนี้ จะหาข้อผิดพลาดและความผิดในตัวคนอื่น ซึ่งจะเป็นการไม่สุภาพและหยาบคาย แต่หมายความว่า คนเหล่านี้สนใจสิ่งรอบข้างและต้องการให้สิ่งที่ทำนั้น เป็นไปตามครรลอง และเป็นไปอย่างมีความสุข หลายครั้งที่เราไม่เพียงแต่ต้องมีความจริงใจและซื่อสัตย์ แต่เราต้องยึดมั่นในความจริงใจนั้นด้วย

40. ความผิดที่ร้ายแรงที่สุด คือ การไม่ตระหนักถึงความผิด (โธมัส คาร์ไลล์)